TNN หลักฐานฟอสซิลเผย มนุษย์กับสุนัขเป็นเพื่อนกันมานานกว่า 12,000 ปี

TNN

Tech

หลักฐานฟอสซิลเผย มนุษย์กับสุนัขเป็นเพื่อนกันมานานกว่า 12,000 ปี

หลักฐานฟอสซิลเผย มนุษย์กับสุนัขเป็นเพื่อนกันมานานกว่า 12,000 ปี

พบหลักฐานโครงกระดูกสุนัขในแหล่งโบราณคดี รัฐอลาสกา การวิเคราะห์พบว่ามีอายุ 12,000 ปีก่อน และมีโปรตีนปลาแซลมอน ที่คาดว่ามนุษย์จะเป็นผู้หาอาหารมาให้

การศึกษาใหม่จากมหาวิทยาลัยแอริโซนา เผยว่าความผูกพันระหว่างมนุษย์กับสุนัขอาจเริ่มต้นขึ้นในทวีปอเมริกาเมื่อ 12,000 ปีก่อน เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ 2,000 ปี โดยหลักฐานมาจากการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ที่แหล่งโบราณคดีในรัฐอลาสกา ประเทศสหรัฐอเมริกา


หลักฐานฟอสซิลเผย มนุษย์กับสุนัขเป็นเพื่อนกันมานานกว่า 12,000 ปี ที่มา : François Lanoë et al.


ฟรานซัวส์ ลาโนเอ (François Lanoë) หัวหน้าคณะนักวิจัยซึ่งเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่คณะมานุษยวิทยา เผยว่า การพิสูจน์ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสุนัขนั้นเป็นเรื่องยากหากไม่พบซากกระดูกสัตว์ในแหล่งโบราณคดี ดังนั้น การศึกษานี้จึงนับว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก


ในปี 2018 ลาโนเอและเพื่อนร่วมงานของเขาพบกระดูกหน้าแข้งของสุนัขโตเต็มวัยที่แหล่งโบราณคดีสวอนพอยต์ (Swan Point) ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองแฟร์แบงก์ส รัฐอลาสก้า ประเทศสหรัฐอเมริกา ไปทางตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 110 กิโลเมตร ทีมวิจัยได้หาอายุของซากสุนัขตัวนี้ด้วยคาร์บอนกัมมันตรังสี และพบว่ามันมีอายุเมื่อประมาณ 12,000 ปีที่แล้ว หรือก็คือช่วงใกล้สิ้นสุดยุคน้ำแข็งครั้งล่าสุด


จากนั้นในปี 2023 ในอีกแหล่งโบราณคดี ชื่อฮอลเลมเบค ฮิลล์ (Hollembaek Hill) ซึ่งอยู่ใกล้กับแหล่งโบราณคดีสวอนพอยต์ ทีมวิจัยก็ได้พบขากรรไกรของสุนัขอายุ 8,100 ปี ซึ่งคาดว่าเป็นสัตว์เลี้ยงของมนุษย์


นักวิจัยได้วิเคราะห์เคมีของกระดูกขากรรไกรและกระดูกหน้าแข้งของสุนัขจากทั้ง 2 แหล่ง พบโปรตีนจากปลาแซลมอนในกระดูก บ่งชี้ว่าสุนัขเหล่านี้กินปลาเป็นประจำ ซึ่งถือว่าไม่ใช่เรื่องปกติของสุนัขที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติในบริเวณและช่วงเวลาดังกล่าว ดังนั้นจึงชี้ว่าปลาแซลม่อนเป็นอาหารที่มนุษย์หามาเลี้ยงสุนัข


ทีมงานมั่นใจว่า สุนัขที่พบที่แหล่งโบราณคดีสวอนพอยต์ เป็นยุคแรก ๆ ในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสุนัข แต่ยังไม่สรุปว่าการค้นพบนี้ถือเป็นสุนัขเลี้ยงตัวแรกในทวีปอเมริกาจริงหรือไม่ 


นอกจากนี้จากการศึกษาพันธุกรรม ยังพบว่าพันธุกรรมของสุนัขที่พบในแหล่งโบราณคดีสวอนพอยต์ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมของสุนัขในปัจจุบัน ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่มันอาจจะเป็นหมาป่าที่ถูกทำให้เชื่อง


งานวิจัยนี้นับว่ามีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากมันสะท้อนให้เห็นประวัติศาสตร์อันยาวนานของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสุนัข รวมถึงเน้นย้ำความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมที่สืบต่อเนื่องมาอย่างยาวนานนับหมื่นปี


การวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science Advances ฉบับวันที่ 4 ธันวาคม 2024


ที่มาข้อมูล PopSciInterestingEngineeringScience

ที่มารูปภาพ ReutersFrançois Lanoë et al.

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง