จีนส่ง “อิฐจากดินดวงจันทร์จำลอง” ทดสอบบนอวกาศ
จีนก้าวหน้าไปสู่เป้าหมายการวางรากฐานบนดวงจันทร์ ด้วยการส่ง “อิฐดินดวงจันทร์” ไปยังสถานีอวกาศเทียนกง เพื่อทดสอบการสัมผัสกับสภาพแวดล้อมที่ใกล้เคียงกับดวงจันทร์มากที่สุดเท่าที่มนุษย์จะเข้าถึงได้
จีนก้าวหน้าไปสู่เป้าหมายการวางรากฐานบนดวงจันทร์ ด้วยการส่ง “อิฐจากดินดวงจันทร์จำลอง” ไปยังสถานีอวกาศเทียนกง เพื่อทดสอบการสัมผัสกับสภาพแวดล้อมที่ใกล้เคียงกับดวงจันทร์มากที่สุดเท่าที่มนุษย์จะเข้าถึงได้ในปัจจุบัน
โดยจีนได้ปล่อยยานอวกาศขนส่งสินค้า เทียนโจว-8 เพื่อมุ่งหน้าสู่สถานีอวกาศเทียนกง และสามารถเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศได้สำเร็จ โดยหนึ่งในสัมภาระที่ขนขึ้นไปก็คือ "อิฐ" ที่ทำจากดินดวงจันทร์จำลอง
"อิฐดินดวงจันทร์" เหล่านี้ เป็นวัสดุที่มีศักยภาพในการก่อสร้างฐานบนดวงจันทร์ในอนาคต และเป็นความพยายามบุกเบิกของศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีแห่งชาติสำหรับการก่อสร้างดิจิทัล ณ มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหัวจงของจีน (China's Huazhong University of Science and Technology)
โดยอิฐดินดวงจันทร์ที่ส่งไปยังสถานีอวกาศ ทำจากดินเถ้าภูเขาไฟจากเทือกเขาฉางไป๋ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ซึ่งมีองค์ประกอบคล้ายกับองค์ประกอบของดินบนดวงจันทร์
ในการทดลองนี้ อิฐดินดวงจันทร์ จะถูกวางไว้นอกโมดูลเวิ่นเทียน เพื่อทดลองการสัมผัสกับสภาพอากาศที่รุนแรง ต้องเผชิญกับรังสีคอสมิก และการสั่นสะเทือนจากความร้อนซ้ำ ๆ โดยมีอุณหภูมิตั้งแต่ -100 องศาเซลเซียส ถึงกว่า 100 องศาเซลเซียส การทดลองเหล่านี้จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ เข้าใจถึงการเสื่อมสภาพของอิฐเมื่อเวลาผ่านไป
นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า ตัวอย่างอิฐดินดวงจันทร์ที่ส่งไปนี้มีทั้งหมด 3 ตัวอย่างด้วยกัน โดยจะนำกลับลงมาบนโลกทีละตัวอย่างในแต่ละปี เพื่อวิเคราะห์ประสิทธิภาพ เนื่องจากในอนาคตหากสามารถวิเคราะห์ว่าอิฐแบบใดสามารถให้ประสิทธิภาพการใช้งานได้ดีที่สุด ก็จะเอื้อประโยชน์ให้การก่อสร้างที่อยู่อาศัยบนดวงจันทร์เป็นไปด้วยดีมากขึ้น
นับตั้งแต่ภารกิจอพอลโล 11 ประสบความสำเร็จในปี 1969 ซึ่งเป็นการลงจอดบนดวงจันทร์ของมนุษย์ครั้งแรก การสำรวจดวงจันทร์ก็ไม่เคยหยุดนิ่ง นักวิทยาศาสตร์จึงหวังว่าการส่งอิฐดินดวงจันทร์จำลองขึ้นสู่อวกาศ จะให้ข้อมูลที่สำคัญสำหรับการสร้างฐานบนดวงจันทร์ในอนาคต
ที่มาข้อมูล Reutersconnect
ที่มารูปภาพ Reutersconnect
ข่าวแนะนำ