TNN เกาหลีใต้คิดค้น “สารเคลือบกระจก” ลดอุณหภูมิได้ แต่ยังปล่อยให้แสงส่อง

TNN

Tech

เกาหลีใต้คิดค้น “สารเคลือบกระจก” ลดอุณหภูมิได้ แต่ยังปล่อยให้แสงส่อง

เกาหลีใต้คิดค้น “สารเคลือบกระจก” ลดอุณหภูมิได้ แต่ยังปล่อยให้แสงส่อง

นักวิจัยเกาหลีใต้ จากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโพฮัง POSTECH และมหาวิทยาลัยเกาหลี ประกาศความสำเร็จสารเคลือบกระจกชนิดใหม่ ทำให้กระจกเย็นลง แต่ยังโปร่งใสเช่นเดิม

นักวิจัยเกาหลีใต้ จากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโพฮัง POSTECH ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกาหลี ประกาศความสำเร็จคิดค้น “สารเคลือบ” ชนิดใหม่ ทำให้กระจกเย็นลง แต่ยังคงความโปร่งใสเช่นเดิม


จากข้อมูลการวิจัยพบว่า หน้าต่างเป็นช่องทางหลัก ในการให้แสงธรรมชาติส่องเข้ามาในห้องหรือภายในตัวอาคาร และก็ยังถือเป็นช่องทางหลักในการปรับอุณหภูมิภายในตัวอาคารอีกด้วย โดยเมื่ออากาศหนาวเย็น ความร้อนประมาณร้อยละ 30 จะสามารถระบายออกทางหน้าต่างได้ และในขณะช่วงอากาศร้อน แสงแดดจากภายนอกที่ตกกระทบหน้าต่าง ก็จะทำให้ภายในอาคารเกิดความร้อนได้มากถึงร้อยละ 76 


“สารเคลือบ” ชนิดใหม่ ที่ทางวิจัยคิดค้นขึ้นมาได้นี้ จึงมีคุณสมบัติในการสะท้อนความร้อนบางส่วนออกไป ในขณะที่ยังอนุญาตให้แสงที่ตามนุษย์มองเห็น สามารถผ่านเข้ามาได้


ความพิเศษของสารเคลือบนี้ จะประกอบไปด้วยโครงสร้าง 3 ชั้น ที่จะทำหน้าที่แตกต่างกัน 


ชั้นที่ 1 หรือ “ชั้นบนสุด” คือ Polydimethylsiloxane หรือ PDMS สารประกอบในกลุ่มโพลีเมอร์ซิลิโคนชนิดหนึ่ง  ทำหน้าที่ปลดปล่อยรังสีอินฟราเรดไกล ซึ่งรู้สึกได้ในรูปของความร้อนออกมา 


ชั้นที่ 2 หรือ “ชั้นกลาง” เป็นชั้นเงินบาง ๆ ทำหน้าที่สะท้อนส่วนที่เหลือของสเปกตรัมดวงอาทิตย์ส่วนใหญ่ โดยชั้นนี้จะเต็มไปด้วยรูขนาดเล็กมากมาย สำหรับให้แสงที่ตามนุษย์มองเห็น สาดส่องเข้ามาได้


ชั้นที่ 3 หรือ “ชั้นสุดท้าย” คือสิ่งที่ถูกเรียกว่า Bragg Mirror เป็นชั้นที่ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษ ในการทำหน้าที่สะท้อนความยาวคลื่นสเปกตรัมอินฟราเรดใกล้ ซึ่งเป็นองค์ประกอบความร้อนส่วนใหญ่ของแสงแดดออกไป โดยมันประกอบไปด้วยชั้นของไททาเนียมไดออกไซด์และแมกนีเซียมฟลูออไรด์ที่สลับกันเป็นชั้น ๆ


จากการทดสอบทางนักวิจัยพบว่า สารเคลือบนี้ช่วยทำให้พื้นผิวกระจกเย็นลงได้ถึง 22.1 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับกระจกที่เคลือบด้วยสาร PDMS เพียงอย่างเดียว


ทางทีมนักวิจัยเผยว่าสารเคลือบดังกล่าว ณ ขณะนี้พร้อมสำหรับการผลิตจำนวนมากแล้ว และมีศักยภาพอย่างมากในด้านสถาปัตยกรรมและการประยุกต์ใช้ด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะสามารถนำไปใช้กับหน้าต่างเพื่อให้ภายในอาคารมีอุณหภูมิที่เย็นลง โดยยังมีแสงส่องเข้ามาได้ ช่วยลดการพึ่งพาระบบทำความร้อนและทำความเย็น ที่อาจกินไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก


 งานวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Advanced Functional Materials : คลิก

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง