ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงพื้นที่ก่อนและหลังน้ำท่วมทะเลทรายซาฮารา
ภาพถ่ายดาวเทียมจับภาพทะเลสาบในทะเลทรายซาฮาราหลังจากที่พายุไซโคลนพัดฝนตกหนักเท่ากับที่ตกในรอบปีในแอฟริกาตอนเหนือภายในเวลาเพียงไม่กี่วัน
สภาพอากาศบนโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยล่าสุดตอนเหนือของทวีปแอฟริกาบริเวณทะเลทรายซาฮาราซึ่งเป็นพื้นที่ร้อนแห้งแล้งมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกได้เกิดน้ำท่วม เนื่องจากพายุไซโคลนและฝนตกอย่างหนัก นาซาและสำนักงานสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐอเมริกาได้จับตาน้ำท่วมครั้งนี้จากอวกาศมาโดยตลอด เพื่อติดตามและรายงานความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม
พายุไซโคลนเขตร้อนลูกดังกล่าวได้พัดถล่มพื้นที่บางส่วนของประเทศโมร็อกโก แอลจีเรีย ตูนิเซีย และลิเบีย ระหว่างวันที่ 7-8 กันยายน โดยปริมาณน้ำฝนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบประมาณ 8 นิ้ว หรือ 20 เซนติเมตร ซึ่งเทียบเท่ากับปริมาณน้ำฝนตลอดทั้งปีที่ตกลงมาภายในเวลาเพียงไม่กี่วัน ตามข้อมูลของหอสังเกตการณ์โลกของนาซา
ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมเป็นทะเลสาบชั่วคราวหลายแห่งในทะเลทรายซาฮารา รวมถึงทะเลสาบเซบคาเอลเมลาห์ (Sebkha el Melah) ในประเทศแอลจีเรีย และทะเลสาบหลายแห่งรอบเอิร์กเชบบี (Erg Chebbi) ซึ่งเป็นเนินทรายรูปดาวขนาดใหญ่ในประเทศโมร็อกโก นาซาได้ใช้เครื่องวัดสเปกตรัมเรดิโอมิเตอร์แบบความละเอียดปานกลาง (MODIS) ที่ติดตั้งบนดาวเทียมเทอร์รา จับภาพพื้นที่น้ำขังจนเป็นทะเลสาบชั่วคราวดังกล่าว ซึ่งปรากฏขึ้นในพื้นที่บางส่วนของประเทศโมร็อกโกและแอลจีเรีย
นอกจากนี้ยังเก็บภาพทะเลสาบที่เกิดขึ้นจากปริมาณน้ำที่ไหลจากเทือกเขาแอตลาส บริเวณใกล้เคียงเมืองเมอร์ซูกา ใกล้กับชายแดนประเทศแอลจีเรีย ซึ่งพื้นที่บริเวณนี้นาซาได้ใช้ดาวเทียมโคเพอร์นิคัส เซนติเนล-2 (Copernicus Sentinel-2) จับภาพที่แสดงให้เห็นทะเลสาบแห่งใหม่กระจัดกระจายอยู่รอบ ๆ
การทำความเข้าใจว่าเหตุการณ์ฝนตกหนัก เช่น พายุไซโคลนในเดือนกันยายน ส่งผลกระทบต่อทะเลทรายซาฮาราอย่างไร ช่วยให้นักวิจัยเข้าใจได้ดีขึ้นว่าทะเลทรายซาฮาราเป็นอย่างไรเมื่อหลายพันปีก่อนในยุคที่ยังเป็นพื้นป่าสีเขียว รวมไปถึงทะเลทรายจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในอนาคต ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก
ที่มาของข้อมูล Space.com
ที่มาของรูปภาพ NASA
ข่าวแนะนำ