อินเดียสร้างแท็กซี่บินได้ที่ผลิตในประเทศเป็นรายแรก บินไกลสุด 160 กิโลเมตร
สารลา เอวิเอชัน (Sarla Aviation) เปิดตัวแท็กซี่อากาศยานขึ้น-ลงแนวดิ่งพลังงานไฟฟ้า (eVTOL) เป็นรายแรกที่ผลิตในประเทศ ระยะบินไกลสุด 160 กิโลเมตร
สารลา เอวิเอชัน (Sarla Aviation - สานลา) เปิดตัวแท็กซี่บินได้ (Air Taxi) หรืออากาศยานขึ้น-ลงแนวดิ่งพลังงานไฟฟ้า (eVTOL) ที่ให้บริการรับ - ส่งผู้โดยสาร โดยเป็นการผลิตแท็กซี่บินได้เป็นรายแรกในประเทศ
ข้อมูลแท็กซี่บินได้ Made in India
แท็กซี่บินได้ของสารลา เอวิเอชัน จะขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าพร้อมมอเตอร์ 7 ชุด ที่ส่งกำลังหมุนใบพัดซึ่งวางแนวเหนือห้องโดยสาร และด้านท้ายเครื่อง ตัวเครื่องสามารถทำระยะการบินไกลสูงสุด 160 กิโลเมตร ใช้นักบิน 1 คน และรองรับผู้โดยสาร 6 คน ส่วนความเร็วการบินสูงสุดอยู่ที่ 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มาพร้อมแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่รองรับการชาร์จไว 15 นาทีสำหรับระยะการบิน 40 กิโลเมตร ส่วนระยะการบินไกลสุดเมื่อชาร์จพลังงานเต็มที่จะอยู่ที่ 160 กิโลเมตร
ในขณะที่ภายในห้องโดยสารมีการวางตำแหน่งคนขับ 1 ที่นั่ง และที่นั่งโดยสาร 3 แถว แถวละ 2 ที่นั่ง รวมเป็น 7 ที่นั่ง พร้อมพื้นที่เก็บสัมภาระ แต่ไม่ได้ระบุน้ำหนักขึ้นบินสูงสุด (Maximum Take-Off Weight: MTOW) เอาไว้
แท็กซี่บินได้ Made in India กับการเดินทางในเมือง
สารลา เอวิเอชัน ตั้งเป้าใช้แท็กซี่บินได้ให้บริการขนส่งระหว่างชานเมืองกับสนามบินของเมืองบังกาลอร์ (Bangalore) ซึ่งเป็นเมืองเทคโนโลยีของประเทศ โดยชูจุดเด่นที่ความรวดเร็วและคุ้มค่าในการเดินทางเมื่อเทียบกับรถยนต์
ยกตัวอย่างเช่น การเดินทางด้วยแท็กซี่แบบ SUV ที่ต้องใช้ค่าเดินทาง 29 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 965 บาท ระยะทาง 37.5 กิโลเมตร ด้วยเวลาเดินทางสูงสุด 152 นาที แต่แท็กซี่บินได้ของสารลา เอวิเอชัน ใช้เวลาเดินทางเพียง 20 นาที ด้วยราคา 21 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 700 บาท
ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุดของสารลา เอวิเอชัน ยังคงไม่มีการเปิดเผยว่าจะเริ่มทดสอบและทำการบินเชิงพาณิชย์เมื่อใด แต่ทั้งหมดจะออกแบบและผลิตโดยแรงงานในอินเดีย ซึ่งทางบริษัทเชื่อว่าจะเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการบินในประเทศ ในขณะที่ข้อบังคับการบินของหน่วยงานในประเทศยังคงอยู่ระหว่างการปรับปรุงเพื่อให้รองรับการใช้งานแท็กซี่บินได้ในขณะนี้
ข้อมูล IoT World Today, News 18 (India)
ภาพ Sarla Aviation
ข่าวแนะนำ