จีนสร้างโดมขนาดใหญ่ใต้ดินเพื่อดักจับ “อนุภาคผี” นิวทริโน
จีนสร้างปรากฏการณ์ครั้งสำคัญทางวิทยาศาสตร์อีกครั้ง กับการสร้างเครื่องตรวจจับอนุภาคขนาดยักษ์รูปทรงโดม เพื่อดักจับ "นิวทริโน" หรือ "อนุภาคผี" ภารกิจสุดท้าทายเพื่อไขความลับการกำเนิดจักรวาล
จีนสร้างเครื่องตรวจจับอนุภาค ที่มีขนาดเครื่องใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีลักษณะเป็นโดมทรงกลมอยู่ลึกลงไปใต้ดินราว 700 เมตร เพื่อใช้จับอนุภาคเร้นลับอย่าง นิวทริโน (neutrinos) หรืออีกฉายาคือ “อนุภาคผี” (ghost particles) ทั้งนี้เพื่อเป้าหมายในการไขความลับเกี่ยวกับกำเนิดของจักรวาล
โดมทรงกลมแห่งนี้มีความสูงเท่าตึก 12 ชั้น มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 35.4 เมตร ฝังลึกลงไปในระดับชั้นหินแกรนิต ของเนินเขาในเมืองไคผิง (Kaiping) ในมณฑลกวางตุ้ง ทางตอนใต้ของจีน โดยถือเป็นส่วนสำคัญของหอสำรวจนิวทริโนใต้ดินเจียงเหมิน (JUNO - Jiangmen Underground Neutrino Observatory) ที่มีขนาดมหึมาและมีความซับซ้อนมาก
โครงการนี้เปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2015 โดยสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (CAS - Chinese Academy of Sciences) ร่วมกับรัฐบาลกวางตุ้ง (Guangdong government) ซึ่งการติดตั้งอุปกรณ์ทั้งหมดคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายนนี้ และเปิดเต็มรูปแบบเดือนสิงหาคมปี 2025
ทั้งนี้ทางผู้พัฒนาคาดว่าโดมจะสามารถใช้งานได้ยาวนานอย่างน้อย 30 ปี โดยเบื้องต้นจะใช้ตรวจจับนิวทริโนของเครื่องปฏิกรณ์จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หยางเจียง (Yangjiang) และไท่ซาน (Taishan) ที่อยู่ใกล้เคียง เพื่อช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ สามารถเข้าใจลำดับชั้นของมวลนิวทริโนได้ดีขึ้น
สำหรับนิวทริโน (neutrinos) เป็นหนึ่งในอนุภาคที่เร้นลับที่สุด พวกมันมีขนาดเล็กมาก เป็นกลางทางไฟฟ้า และแทบจะไม่ค่อยมีปฏิกิริยากับสสารอื่นรวมถึงสามารถเคลื่อนผ่านร่างกาย อาคาร หรือโลกของเราไปได้ ราวกับไม่มีอยู่จริง จนเป็นที่มาของฉายา “อนุภาคผี”
นักวิทยาศาสตร์จึงหวังว่าการศึกษาเกี่ยวกับ นิวทริโน จะทำให้พวกเขาสามารถเข้าใจเกี่ยวกับการกำเนิดของจักรวาล และให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับโครงสร้างและวิวัฒนาการของมันได้ เพื่อให้เห็นภาพอนาคตของจักรวาลมากขึ้น
ข้อมูลจาก apvideohub, interestingengineering
ข่าวแนะนำ