TNN "ปลูกข้าว" ในอวกาศ ม.มหิดล ส่งข้าวไทยไปทดลองกับสื่อเจี้ยน - 19 ดาวเทียมใช้ซ้ำได้ดวงแรกของจีน

TNN

Tech

"ปลูกข้าว" ในอวกาศ ม.มหิดล ส่งข้าวไทยไปทดลองกับสื่อเจี้ยน - 19 ดาวเทียมใช้ซ้ำได้ดวงแรกของจีน

ปลูกข้าว ในอวกาศ ม.มหิดล ส่งข้าวไทยไปทดลองกับสื่อเจี้ยน - 19 ดาวเทียมใช้ซ้ำได้ดวงแรกของจีน

คณะวิทยาศาสตร์​ มหาวิทยาลัยมหิดล ทดลองการตอบสนองของต้นกล้าข้าวภายใต้สภาวะรุนแรงในอวกาศด้วยการส่งขึ้นไปกับดาวเทียมสื่อเจี้ยน-19 ดาวเทียมที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ดวงแรกของจีน

การทำการเกษตรบนอวกาศ (Space farming) เป็นหนึ่งในเป้าหมายของมนุษยชาติที่ต้องการสร้างแหล่งอาหารสำหรับภารกิจระยะยาวบนอวกาศ หรือแม้แต่การตั้งถิ่นฐานบนอวกาศในอนาคต ด้วยเหตุนี้ ห้องปฏิบัติการ Plant Biology & Astrobotany (PBA Lab) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้พัฒนาโครงการทดลองการตอบสนองของต้นกล้าข้าวภายใต้สภาวะแวดล้อมรุนแรงในอวกาศ โดยส่งชุดการทดลองไปศึกษาการปรับตัวของต้นกล้าข้าวในอวกาศกับดาวเทียมวิจัย สือเจี้ยน-19 (Shijian-19) ซึ่งเป็นดาวเทียมที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้เป็นรุ่นแรกของจีน


รายละเอียดการปลูกข้าวบนอวกาศ

โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อคัดกรองสายพันธุ์ข้าว ที่มีความทนทานสูงเพื่อการใช้งานในภารกิจสำรวจอวกาศ โดยประสานความร่วมมือกับศูนย์วิจัยข้าวอุบลราชธานี กรมการข้าว เพื่อให้ส่งสายพันธุ์ข้าวที่ผ่านการคัดเลือกว่ามีคุณสมบัติดีและมีแนวโน้มทนทานต่อสภาพแวดล้อมจำนวน 5 สายพันธุ์ ขึ้นไป มาเป็นสายพันธุ์ทดลองก่อนส่งข้ามประเทศไปยังจีน เพื่อจัดชุดทดลองก่อนส่งเข้าสู่ดาวเทียม (Payload) ต่อไป


ดร.ทัฏพงศ์ ตุลยานนท์ ผู้พัฒนาโครงการทดลอง และผู้ดูแล PBA Lab ให้ข้อมูลกับ TNN Tech ว่า การทดสอบดังกล่าว เป็นการสังเกตลักษณะงอกเป็นต้นกล้าภายใต้สภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำและการได้รับรังสีคอสมิก (Cosmic ray) บนอวกาศ โดยมีข้าว 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่จะงอกเป็นต้นกล้าในอวกาศ และกลุ่มที่เป็นเมล็ดแห้งโดยเป็นการนำหลอดแช่แข็ง (Cryotube) แทนกระถางทดลอง ก่อนจัดเรียงเมล็ดพันธุ์ข้าวที่จะโตเป็นต้นกล้าให้อยู่ตรงกลางด้วยการใช้ชั้นโฟมแทนดิน คล้ายกับการปลูกพืชแบบไฮโดรโปนิกส์ (Hydroponics) และส่งมอบชุดทดลองให้ทางองค์การอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) เพื่อการบรรจุลงดาวเทียมวิจัย สือเจี้ยน-19 และส่งขึ้นสู่อวกาศ


ทั้งนี้ ดาวเทียมวิจัยสือเจี้ยน-19 ได้เดินทางออกจากชั้นบรรยากาศโลกเข้าสู่วงโคจรด้วยจรวดขับเคลื่อนลองมาร์ช ทูดี (Long March 2D: CZ-2D) จากท่าอวกาศยานจิ่วเฉวียน (Jiuquan Satellite Launch Center) เมื่อวันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา เวลา 17.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น และมีกำหนดส่งตัวอย่างต้นกล้ากลับสู่พื้นโลกในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน เพื่อนำกลับมาวิเคราะห์จีโนม (Genome) หรือข้อมูลทางพันธุกรรม (DNA) ทั้งหมดของสิ่งมีชีวิต เพื่อศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นในอวกาศต่อไป 


ปลูกข้าวไทยบนอวกาศด้วยดาวเทียมวิจัยของจีน

โครงการทดลองนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการสนับสนุนการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์อวกาศ ของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาการวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมการประสานงานจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า (GISTDA) กับ องค์การอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) ที่ให้ทุนการสนับสนุนการทดลองมูลค่า 5,750,000 บาท ซึ่งครอบคลุมชุดทดลอง ค่าใช้จ่ายในการเดินทางของคณะนักวิจัย ไปจนถึงค่าดำเนินการส่งชุดทดลองไปอวกาศ 


ทั้งนี้ นอกจากไทยแล้ว องค์การอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) ยังได้สนับสนุนการทดลองของปากีสถาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาดาวเทียมใช้ซ้ำได้ (Reusable research satellite) เป็นรุ่นแรกของประเทศ ซึ่งหลังจากที่นำกลับลงมายังโลกในเดือนตุลาคมนี้ พร้อมกับ Payload ต่าง ๆ ที่รวมถึงข้าวไทย CNSA จะนำข้อมูลการปฏิบัติงานไปวิเคราะห์และพัฒนาเพิ่มเติมเพื่อการทำภารกิจอวกาศในครั้งถัด ๆ ไป



ดร.ทัฏพงศ์ ตุลยานนท์ กล่าวกับ TNN Tech ว่า "ความสำเร็จของภารกิจ Shijian-19 นี้ ได้ยกระดับให้มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย ที่สามารถดำเนินการวิจัยด้านชีววิทยาอวกาศ (Space biology) ในวงโคจรโลก และเป็นครั้งแรกที่ CNSA สนับสนุนการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพในอวกาศกับประเทศไทย ซึ่งเป็นประโยชน์มหาศาลต่อมหาวิทยาลัยมหิดลในการสร้างกำลังคนสมรรถนะสูงและการผู้นำด้านชีววิทยาอวกาศ"


ข้อมูลและภาพจาก ดร.ทัฏพงศ์ ตุลยานนท์/PBA Lab

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง