TNN ญี่ปุ่นไฟเขียว ใช้ “โดรน - สมาร์ตโฟน” ตรวจสอบความเสียหายภัยพิบัติ

TNN

Tech

ญี่ปุ่นไฟเขียว ใช้ “โดรน - สมาร์ตโฟน” ตรวจสอบความเสียหายภัยพิบัติ

ญี่ปุ่นไฟเขียว ใช้ “โดรน - สมาร์ตโฟน” ตรวจสอบความเสียหายภัยพิบัติ

รัฐบาลญี่ปุ่นอนุญาตให้ใช้ “โดรน - สมาร์ตโฟน” ตรวจสอบความเสียหายจากภัยพิบัติได้แล้ว เพื่อที่จะสามารถออก “ใบรับรองภัยพิบัติ” ให้ผู้ประสบภัยได้ทันท่วงที

สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีของประเทศญี่ปุ่น ได้ทำการปรับแก้แนวทางการปฏิบัติงานของเทศบาล ในการรับรองความเสียหายจากภัยพิบัติ อนุญาตให้สามารถใช้โดรนและสมาร์ตโฟน ในการประเมินขอบเขตความเสียหายที่เกิดขึ้นได้แล้ว หลังเกิดเหตุน้ำท่วมจากฝนที่ตกหนัก จนไม่สามารถระบายน้ำออกได้ทัน ซึ่งเรื่องนี้สามารถทำได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา


ข้อดีของการปรับแนวทางปฏิบัตินี้ สามารถประเมินขอบเขตความเสียหายได้เร็ว ทางเจ้าหน้าที่ก็จะสามารถออก “ใบรับรองภัยพิบัติ” ให้ผู้ประสบภัยได้ทันท่วงที ช่วยให้ผู้ประสบภัยสามารถได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐบาล และกลับมาใช้ชีวิตใหม่ได้เร็วกว่าเดิม 


เหตุผลที่ทางรัฐบาลญี่ปุ่นอนุญาตให้สามารถใช้โดรนและสมาร์ตโฟนในการประเมินได้ เพราะเล็งเห็นว่า โดรนสามารถบินขึ้นไปถ่ายภาพจากบนท้องฟ้า เพื่อสร้างแผนที่แบบ 3 มิติของของภูมิประเทศและอาคารออกมาได้ 


ในขณะที่สมาร์ตโฟนจะสามารถเข้าถึงแอปพลิเคชันในการวิเคราะห์ภาพถ่ายผนังบ้านที่เสียหาย เพื่อวัดความลึกของน้ำท่วม รวมไปถึงการกำหนดระดับความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ในทันที


ก่อนหน้านี้ วิธีการประเมินขอบเขตความเสียหายของหน่วยงานราชการในญี่ปุ่น จะใช้วิธีเดินทางไปยังสถานที่เกิดเหตุด้วยตนเอง เพื่อตรวจสอบความเสียหายของผนังและพื้นก่อนที่จะออกใบรับรองภัยพิบัติ แต่วิธีการดังกล่าวมีข้อจำกัดในเรื่องของกำลังคนไม่มากพอ ก็ทำให้เกิดการตรวจสอบที่ล่าช้าตามมา จนทำให้การออกใบรับรองล่าช้าตามไปด้วย


การปฏิบัติงานด้วยโดรนและสมาร์ตโฟนนี้ ทางหน่วยงานได้เริ่มทดสอบมาก่อนแล้วตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคมปี 2023 จนมาถึงช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2024 ที่ผ่านมา จากเหตุการณ์น้ำท่วมในจังหวัดอิบารากิและอาคิตะ 


ทางหน่วยงานพบว่า ความลึกของน้ำท่วมที่คำนวณโดยใช้เทคโนโลยีนั้น ไม่ได้แตกต่างจากความลึกที่ตรวจสอบแบบเดิมเลย ซึ่งทางสำนักงานคณะรัฐมนตรีเห็นว่าระบบใหม่สามารถใช้งานได้จริง จึงตัดสินใจนำมาใช้งานโดยทั่วไป และวางแผนจะจัดอบรมแก่เทศบาลต่าง ๆ เพื่อให้มีการนำไปใช้งานมากขึ้น


ที่มาข้อมูล japannews.yomiuri.co.jp/

ข่าวแนะนำ