ส.ว.สหรัฐฯ เปิดตัวพยานแฉ Boeing คนใหม่ ย้ำต้นตออุบัติเหตุคือชิ้นส่วนที่ซุก FAA หลังพยานคนก่อนลาโลก ให้ปากคำเพิ่มเติมไม่ได้ตลอดชีวิต
คณะอนุกรรมกรรมาธิการของวุฒิสมาชิกสหรัฐอเมริกา เปิดตัวพยานคนใหม่ในการสืบสวนในคดีที่ Boeing ประกอบเครื่องบินโดยแอบใช้ชิ้นส่วนที่ไม่ได้รับการรับรองจาก FAA หลังจากที่พยานคนก่อนหน้านี้ลาโลกแบบปริศนา
คณะอนุกรรมกรรมาธิการถาวรด้านการสืบสวน (Permanent Subcommittee on Investigations: PSI) ของวุฒิสภาสหรัฐอเมริกา (U.S. Senate) เปิดเผยว่า แซม โมฮอว์ค (Sam Mohawk) ผู้ตรวจสอบการประกันคุณภาพ (quality assurance investigator) ของโบอิ้ง (Boeing) จะเป็นพยานคนใหม่ในการไต่สวนกรณี Boeing ประกอบเครื่องบินโดยแอบใช้ชิ้นส่วนที่ไม่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่กำกับการบิน ซึ่งทาง PSI เชื่อว่าเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุทางการบินที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2018 และปี 2019 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต รวมถึงอุบัติเหตุประตูเครื่องบินหลุดกลางอากาศกับสายการบินอะแลสกา (Alaska Airlines) เมื่อต้นปีที่ผ่านมาด้วย
รายละเอียดปัญหาชิ้นส่วนของ Boeing
การไต่สวนเกิดขึ้นเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาจากการที่ประตูเครื่องบิน Boeing 737 MAX ของสายการบินอะแลสกา (Alaska Airlines) หลุดกลางอากาศ โดยจอห์นสัน บลูเมนธาล (Johnson Blumenthal) ประธานของ PSI ที่เป็นวุฒิสมาชิกรัฐคอนเนตทิคัตจากพรรคเดโมแครต (Democratic Party) กล่าวหาว่า Boeing ได้จงใจละเมิดกฎความปลอดภัยในการประกอบเครื่องบินรุ่น รุ่น 737 MAX หลายลำ ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนและความมั่นคงของชาติ โดยอ้างถึงพยาน (Whistleblower) ที่เป็นลูกจ้างของ Boeing หลายคนที่ให้ข้อมูลในการไต่ส่วนครั้งนี้
การไต่สวนดังกล่าวมุ่งเน้นไปที่การประกอบเครื่องบินที่มีการปะปนชิ้นส่วนที่ไม่ได้แจ้ง (nonconforming parts) องค์การบริหารการบินแห่งชาติ หรือ FAA (Federal Aviation Administration) ซึ่งหนึ่งในพยานคนสำคัญของ PSI ที่เป็นคนจุดกระแสการตรวจสอบในครั้งนี้คือ จอห์น บาร์เน็ตต์ (John Barnett) อดีตลูกจ้างของ Boeing ที่ออกมากล่าวหา Boeing ตั้งแต่ปี 2019 ก่อนที่ John Barnett จะเสียชีวิตแบบปริศนา ซึ่งตำรวจเชื่อว่าเป็นการปลิดชีพตัวเองเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ในวันอังคารที่ 18 มิถุนายนที่ผ่านมา PSI ได้เปิดตัวพยานคนใหม่คือ แซม โมฮอว์ค (Sam Mohawk) ซึ่งตามรายงานโดยสำนักข่าว CNN ระบุว่า Sam Mohawk ให้การสนับสนุนว่า Boeing ประกอบเครื่องบินโดยจงใจใช้ชิ้นส่วนที่ไม่ได้ระบุกับ FAAโดยอ้างว่า Beoing ปลอมแปลงบันทึกรายงานชิ้นส่วนที่ใช้ ซึ่งส่งผลให้ Boeing ไม่สามารถติดตามเส้นทางการผลิตของชิ้นส่วนที่มีปัญหา และถูกนำไปติดตั้งบนเครื่องบินบางลำ ซึ่งจะสนับสนุนการไต่สวนของ PSI ต่อ Boeing ว่าปัญหาดังกล่าวเป็นเป็นสาเหตุของอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับเครื่องบินตระกูล Boeing 737 MAX ทั้งหมด
นอกจากนี้ รายงานของ Mohawk ยังระบุอีกด้วยว่า หัวหน้างานของเขาแนะนำให้ปกปิดหลักฐานที่เกิดขึ้นเพื่อไม่ให้หน่วยงานของรัฐตรวจพบด้วย ในขณะที่ Boeing ออกแถลงการณ์โดยเน้นย้ำว่า บริษัทให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมการทำงานที่ให้พนักงานคอยรายงานปัญหาอยู่เสมอ พร้อมปฏิเสธว่าไม่ได้มีการจงใจปกปิดปัญหาแต่อย่างใด
พยานคดี Boeing ที่จากไปอย่างเป็นปริศนาสู่มหากาพย์ไต่สวน
ก่อนหน้านี้ จอห์น บาร์เน็ตต์ (John Barnett) อดีตผู้จัดการฝ่ายคุณภาพ (Quality manager) ของ Boeing เคยออกมากล่าวหาในปี 2019 ผ่านการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว BBC ว่า Boeing เร่งรัดการผลิต Boeing 737 MAX มากเกินไปจนมีปัญหาด้านคุณภาพ ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับการที่ 737 MAX มีปัญหาจนทำให้เกิดอุบัติเหตุทางการบินและมีผู้เสียชีวิตรวมกันกว่า 346 คน ในปี 2018 และปี 2019 ที่ผ่านมา
John Barnett เผชิญการต่อสู้ทางกฎหมายอย่างต่อเนื่องกับ Boeing และในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สำนักข่าว CBS รายงานว่า มีคนพบร่างของ Barnett ซึ่งมีรอยคล้ายการยิงบริเวณขมับในลานจอดรถของโรงแรมในรัฐเซาท์แคโรไลนา ซึ่งตำรวจสรุปว่าเป็นการปลิดชีพตัวเองเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แม้ว่าทนายและครอบครัวจะไม่ปักใจเชื่อก็ตาม และทำให้คณะอนุกรรมาธิการฯ (PSI) ต้องหาพยานคนใหม่ในการไต่สวนครั้งนี้
โดยการเปิดเผยพยานคนใหม่ในครั้งนี้เกิดขึ้นในวันอังคารที่ 18 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันที่ เดฟ คาลฮูน (Dave Calhoun) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของ Boeing ได้ขึ้นให้การกับคณะอนุกรรมาธิการฯ (PSI) โดยอินเทอร์เรสติง เอ็นจิเนียริง (Interesting Engineering) รายงานว่า แนวทางการชี้แจงของ Boeing ที่เกิดขึ้นจะอยู่บนพื้นฐานการให้ข้อเท็จจริงถึงความผิดพลาดที่เกิดขึ้น แต่ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการจงใจปกปิดหลักฐานหรือละเมิดกฏหมายแต่อย่างใด ซึ่งกระบวนการไต่สวนยังคงต้องเรียกสอบพยานเพิ่มเติม รวมถึงคำให้การของทั้งฝั่ง Boeing และ FAA ด้วยเช่นกัน
ข้อมูลจาก Interesting Engineering, CBS, Wispolictics, Johnson Blumenthal
ภาพจาก Wikipedia
ข่าวแนะนำ