Climeworks เดินเครื่องโรงงานดักจับคาร์บอนใหญ่ที่สุดในโลกสู้ภาวะโลกเดือด !
Climeworks บริษัทด้านสิ่งแวดล้อมสัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ เริ่มเดินเครื่องสำหรับโรงงานยักษ์ ที่ใช้สำหรับดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศ และกักเก็บไว้ใต้ดินอย่างถาวร เพื่อหวังช่วยกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หนึ่งในตัวการสร้างภาวะโลกร้อน
ไคลม์เวิร์คส์ (Climeworks) บริษัทด้านสิ่งแวดล้อมสัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ ประกาศเปิดเครื่องใช้งานอย่างเป็นทางการ สำหรับโรงงานดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยสามารถดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศได้มากถึง 36,000 เมตริกตันต่อปี
โรงงานแห่งนี้มีชื่อว่า แมมมอธ (Mammoth) ตั้งอยู่ที่ประเทศไอซ์แลนด์ ซึ่งนับเป็นโรงงานแห่งที่สองของบริษัท มีขนาดใหญ่กว่าโรงงานแรกอย่าง ออก้า (Orca) ที่เริ่มดำเนินการในปี 2021 ถึง 10 เท่า
สำหรับวิธีการที่บริษัทใช้ จะเป็นการกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บอากาศโดยตรง หรือที่เรียกว่า Direct Air Capture (DAC) เป็นเทคโนโลยีที่ออกแบบมาเพื่อดูดอากาศและดึงคาร์บอนออกโดยใช้สารเคมี จากนั้นคาร์บอนสามารถสูบลงไปใต้พื้นดิน เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ หรือเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นของแข็งได้
โดยโรงงานแห่งนี้ จะใช้พัดลมขนาดใหญ่ ซึ่งมีติดตั้งอยู่ถึง 72 ตัว เพื่อช่วยดูดอากาศผ่านตัวกรอง เพื่อดักจับอนุภาคคาร์บอนไดออกไซด์ จากนั้นเมื่อตัวกรองเต็ม ก็จะปิดรับอากาศ แล้วเพิ่มอุณหภูมิตัวกรองให้สูงขึ้นถึง 100 องศาเซลเซียส แล้วสกัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากไอน้ำ แปลงให้เป็นสารละลายส่งไปตามท่อ เพื่อสูบเก็บไว้ใต้ดินลึกราว 700 เมตร
สารละลายที่ว่านี้จะทำปฏิกิริยากับแมกนีเซียม แคลเซียม และเหล็กในหิน จนเกิดเป็นผลึก กลายเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นของแข็งต่อไป ทั้งนี้บริษัท ไคลม์เวิร์คส์ (Climeworks) มีเป้าหมายที่จะขยายกำลังให้สามารถดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศเกิน 1 ล้านเมตริกตันต่อปีภายในปี 2030 และทำได้ถึง 1,000 ล้านเมตริกตันในปี 2050
สำหรับภาวะโลกร้อน มีสาเหตุมาจากการที่โลกมีปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ส่วนหนึ่งเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นในชั้นบรรยากาศอย่างรวดเร็ว ทำให้โลกไม่สามารถระบายความร้อนออกไปได้ตามปกติ จนมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้น ทำให้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไป ด้วยเหตุนี้จึงทำให้บริษัททั่วโลกต้องตื่นตัวในการลดคาร์บอน ซึ่งเกี่ยวพันกับข้อกฏหมายด้านคาร์บอนเครดิต หรือจำนวนการปล่อยคาร์บอนของแต่ละบริษัทในแต่ละปีอีกด้วย
ข้อมูลจาก engadget, climeworks, edition.cnn
ข่าวแนะนำ