TNN “ต้นไม้จักรกล” ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าต้นไม้จริง 1,000 เท่า

TNN

Tech

“ต้นไม้จักรกล” ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าต้นไม้จริง 1,000 เท่า

“ต้นไม้จักรกล” ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าต้นไม้จริง 1,000 เท่า

ชมผลงาน “ต้นไม้จักรกล” MechanicalTree จากมหาวิทยาลัยรัฐแอริโซนา ในสหรัฐอเมริกา ที่สามารถดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยอ้างว่าสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าต้นไม้จริง 1,000 เท่า

เพื่อต่อสู้กับปัญหาโลกร้อน บริษัท คาร์บอน คอลเลค (Carbon Collect) ผู้พัฒนาเทคโนโลยีการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หนึ่งในตัวการที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก จึงได้พัฒนา “ต้นไม้จักรกล” หรือ “Mechanical Tree” (แมคคานีเคิลทรี) สำหรับการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศ เพื่อเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยต่อสู้กับภาวะโลกร้อน ที่กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น

“ต้นไม้จักรกล” ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าต้นไม้จริง 1,000 เท่า ภาพจาก Carbon Collect

ผลงานนี้เป็นการพัฒนาร่วมกันระหว่างบริษัทกับ เคลาส์ แลคเนอร์ (Klaus Lackner) ศาสตราจารย์วิชาวิศวกรรมและผู้อำนวยการศูนย์กำจัดคาร์บอนจากมหาวิทยาลัยรัฐแอริโซนา (ASU) ในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเขาได้ใช้เวลากว่าสองทศวรรษในการค้นคว้าเทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอน ก่อนจะพัฒนามาเป็นต้นไม้จักรกลแบบที่เราเห็นในปัจจุบัน ซึ่งได้นำไปใช้งานแล้วภายในมหาวิทยาลัยรัฐแอริโซนา (ASU) 


สำหรับตัวต้นไม้จักรกลนี้ เป็นเสาที่มีความสูงประมาณ 10 เมตร ประกอบไปด้วยแผ่นกรองดูดซับคาร์บอนจากอากาศ โดยตัวเสาสามารถยืดและหดได้ และใช้เวลาในการดูดซับก๊าซประมาณ 30 นาที -1 ชั่วโมงต่อรอบ เมื่อต้นไม้จักรกล ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จนอิ่มตัว มันจะค่อย ๆ หดตัวเสากลับไปยังฐาน เพื่อที่จะได้ปล่อยปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่กักเก็บไว้ออกจากตัวดูดซับ ก่อนที่จะยืดตัวขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อทำงานรอบต่อไป

“ต้นไม้จักรกล” ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าต้นไม้จริง 1,000 เท่า ภาพจาก Carbon Collect

บริษัทอ้างว่าต้นไม้จักรกลนี้ สามารถดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากอากาศได้ดีกว่าต้นไม้จริง ๆ ถึง 1,000 เท่า โดยสามารถทำได้ประมาณ 1 ตันต่อวัน อย่างไรก็ตามถ้าเทียบกับต้นไม้จริง ๆ แล้ว มันยังทำได้เพียงแค่การช่วยกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เท่านั้น ไม่ได้มีกระบวนการปล่อยก๊าซออกซิเจนกลับออกมาเหมือนกับที่ต้นไม้จริงทำได้แต่อย่างใด

“ต้นไม้จักรกล” ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าต้นไม้จริง 1,000 เท่า ภาพจาก Carbon Collect

บริษัทยังระบุอีกว่า เทคโนโลยีต้นไม้จักรกลนี้ ยังแตกต่างจากเทคโนโลยีการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศโดยตรง (DAC) แบบทั่วไป ตรงที่ไม่ต้องใช้พัดลมดูดอากาศมาเข้าเครื่อง แต่จะใช้การดักจับจากลมธรรมชาติ ทำให้ต้นทุนถูกลง และเป็นยังปรับขนาดการใช้งานได้ในเชิงพาณิชย์


ซึ่งปัจจุบันตัวต้นไม้จักรกลนี้ ยังคงอยู่ในช่วงของการทดสอบใช้งาน โดยบริษัทวางแผนที่จะขยายขนาดเทคโนโลยี ให้สามารถดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึงประมาณ 1,000 ตันต่อวันในอนาคต 


ข้อมูลจาก thechemicalengineerazcentralsustainability-timessiliconrepubliceurekalertcarboncollecdailymail

ข่าวแนะนำ