สหรัฐฯ เริ่มทดลองพ่นเกลือเพื่อสร้างเมฆที่หักเหแสงดวงอาทิตย์ แก้โลกร้อนครั้งแรกของโลก !
นักวิจัยในสหรัฐอเมริกา เริ่มโครงการทดลองพ่นเกลือเพื่อกระตุ้นเมฆหักเหแสงแดดไม่ให้ลงมาที่โลกทั้งหมดเป็นครั้งแรกของโลก
แสงจากดวงอาทิตย์ คือแหล่งพลังงานความร้อนและแสงสว่างของโลก แต่ในขณะเดียวกันภาวะโลกเดือด (หรือภาวะโลกร้อน) ก็ทำให้ความร้อนที่ได้จากแสงอาทิตย์ยังถูกกักเก็บเอาไว้ในโลกและทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน (University of Washington) จึงริเริ่มทดลองแก้ปัญหา ด้วยการลดความร้อนจากดวงอาทิตย์ โดยการสร้างเมฆเทียมเพื่อหักเหแสงอาทิตย์เป็นครั้งแรกของโลก
วิธีการทดลองใช้เมฆหักแหแสงแดดครั้งแรกของโลก
การทดลองดังกล่าวอิงจากพื้นฐานว่าเมฆสามารถหักเหแสงอาทิตย์ได้ แต่ปรากฏการณ์ดังกล่าวในธรรมชาตินั้นเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก ทีมนักวิจัยจึงเริ่มโครงการสร้างกระบวนการที่เรียกว่า การเพิ่มความสว่างของเมฆเหนือมหาสมุทร (Marine Cloud Brightening: MCB) เพื่อให้ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นได้โดยการสร้างและออกแบบของมนุษย์
MCB เป็นการใช้ประโยชน์จากเมฆเหนือมหาสมุทรที่มักลอยตัวต่ำ เป็นวัตถุดิบในการสร้างเมฆที่ช่วยสะท้อนและหักแหแสง โดยการพ่นละอองเกลือเพื่อให้ไปถึงเมฆ ละอองเกลือจะทำให้เมฆเพิ่มความสามารถในการสะท้อนแสง และลดปริมาณความเข้มแสงที่ผ่านเมฆเข้ามาสู่โลก พร้อมทำให้เมฆมีความขาวชัดมากขึ้น ซึ่งเป็นที่มาของชื่อกระบวนการด้วยเช่นกัน
โดยสิ่งที่ทีมนักวิจัยทำก็คือการสร้างเครื่องพ่น (Spraying) น้ำทะเลไปยังระดับความสูงที่เมฆเลยตัวอยู่ พร้อมติดตั้งตัวเครื่องพ่นบน ยูเอสเอส ฮอร์เน็ต (USS Hornet CV-12) เรือบรรทุกเครื่องบินซึ่งปลดประจำการในปี 1970 ที่ปัจจุบันทำหน้าที่เป็นพิพิธภัณฑ์ลอยน้ำ บริเวณอ่าวซานฟรานซิสโก (San Francisco Bay Area) ตั้งแต่วันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา
รอลุ้นผลการทดลองอีก 3 ปี ได้ข้อสรุป
แม้ผลลัพธ์การทดลองเบื้องต้นจะยังไม่สามารถได้ข้อสรุปที่ชัดเจน แต่นักวิจัยในทีม ตลอดจนนักบรรยากาศศาสตร์ (Atmospheric scientist) เชื่อว่าการรบกวนธรรมชาติของเมฆด้วยเทคนิค MCB มีความเป็นไปได้ในการทดลอง โดยมีปัจจัยที่สำคัญคือการสร้างละอองในอากาศ (Aerosoid) ที่มีความเหมาะสมในแง่ของขนาดและความเข้มข้น รวมถึงเครื่องพ่นที่มีกำลังการปล่อยที่เหมาะสมด้วย
ทั้งนี้ การทดลองดังกล่าวจะใช้ระยะเวลาทั้งสิ้น 3 ปี นับตั้งแต่เดือนเมษายน เพื่อบันทึกข้อมูลการทดลอง โดยติดตั้งเครื่องมือวัดสภาพอากาศเหนือ USS Hornet รวมถึงปรับปรุงแบบเครื่องพ่นให้เหมาะสม โดยตั้งงบประมาณตลอดระยะเวลาโครงการไว้ที่ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 370 ล้านบาท ซึ่งประมาณร้อยละ 10 ของงบ หรือประมาณ 37 ล้านบาท จะเป็นค่าใช้จ่ายในการใช้ USS Hornet เป็นสถานที่ทดลองด้วย
ข้อมูลจาก New York Times, Interesting Engineering
ภาพจาก SilverLining via PR Newswire, University of Washington
ข่าวแนะนำ