TNN นักวิจัยในสหรัฐอเมริกาสุดฉาว กุเรื่องพบตัวนำยิ่งยวดที่อุณหภูมิห้องลวงโลก

TNN

Tech

นักวิจัยในสหรัฐอเมริกาสุดฉาว กุเรื่องพบตัวนำยิ่งยวดที่อุณหภูมิห้องลวงโลก

นักวิจัยในสหรัฐอเมริกาสุดฉาว กุเรื่องพบตัวนำยิ่งยวดที่อุณหภูมิห้องลวงโลก

ทีมนักวิทยาศาสตร์เปิดเผยการสอบสวนผลงานวิจัยการค้นพบสารตัวนำยิ่งยวด (Superconductor) ที่อุณหภูมิห้องเป็นเรื่องโกหก หลังพบนักวิจัยเจ้าของผลงานปลอมแปลงข้อมูลการทดลองและละเมิดจริยธรรมการวิจัย

สารตัวนำยิ่งยวด (Superconductor) เป็นสารที่นำไฟฟ้าได้โดยปราศจากการต้านทานภายใน (Internal resistance) ของตัวสารเอง ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเครื่องเอ็มอาร์ไอ (MRI), รถไฟแม่เหล็ก (Meglev) รวมไปถึงเครื่องเร่งอนุภาค (Particle Accelerator) ที่เป็นเครื่องมือการทดลองและการผลิตพลังงานสำคัญในอนาคตก็ล้วนใช้ Superconductor เป็นส่วนประกอบทั้งนั้น 


อย่างไรก็ตาม Superconductor จะเกิดขึ้นในภาวะอุณหภูมิติดลบถึง - 269 องศาเซลเซียส แต่หลายครั้งที่มีนักวิจัยพยายามอ้างว่าสามารถสร้างสารดังกล่าวในสภาพอุณหภูมิห้อง หรือ 25 องศาเซลเซียส ได้ แต่หนึ่งในผลการวิจัยเรื่อง Superconductor ในอุณหภูมิที่เคยตีพิมพ์ในวารสารชื่อดังอย่างเนเชอร์ (Nature) กลับกลายเป็นเพียงเรื่องลวงโลกเท่านั้น ตามการรายงานของอินเทอร์เรสติง เอ็นจิเนียริง (Interesting Engineering) สื่อด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชื่อดังของสหรัฐอเมริกา


ที่มางานวิจัยตัวนำยิ่งยวดที่อุณหภูมิห้องลวงโลก

ในรายงานดังกล่าว อ้างถึงผลงานวิจัยของ แรนก้า พี. ไดแอส (Ranga P. Dias) นักวิจัยด้านสารควบแน่น (Condensed matter) ในสาขาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยรอเชสเตอร์ (University of Rochester) รัฐนิวยอร์ก ซึ่งได้ตีพิมพ์งานวิจัยใน Nature ในช่วงปลายเดือนมีนาคมปี 2023 ที่ผ่านมาว่าค้นพบ superconductor ที่สามารถทำงานได้ในสภาพอุณหภูมิห้อง (สามารถอ่านรายละเอียดที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมในข่าว สรุปดราม่าระดับโลก: งานวิจัย “LK-99” สารตัวนำยิ่งยวดอุณหภูมิห้อง ของจริง หรือลวงโลก !?)


อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาเพียง 6 เดือน หลังจากการตีพิมพ์ Nature ได้ถอดถอน (Retract) ผลงาน 2 ฉบับ ที่ตีพิมพ์กับ Nature รวมถึงได้รับเสียงวิจารณ์ในแง่ลบอย่างรุนแรง เพราะโดนกล่าวหาว่าบิดเบือนผลการทดลอง (data manipulation) การปลอมแปลงผลการทดลอง (Result Falsification) และการลอกเลียนผลงานวิจัย (Plagiarism) 


และเพื่อหาข้อเท็จจริง ทางมหาวิทยาลัยรอเชสเตอร์ได้ตั้งคณะกรรมการอิสระจากเหล่านักวิชาการที่มหาวิทยาลัยเทียบเชิญมาสอบสวนการวิจัยในครั้งนี้ และหลังใช้เวลาเกือบ 10 เดือนนับตั้งแต่ตั้งคณะกรรมการ ผลการสอบสวนก็ระบุว่าไดแอสนั้น “โกหกซ้ำซาก” ตั้งแต่ผลการทดลอง ไปจนถึงนำเอาผลการทดลองคนอื่นมาแอบอ้างเพื่อให้งานวิจัยสมบูรณ์ และเผยแพร่รายงานข้อเท็จจริงจำนวน 124 หน้า ร่วมกับ Nature


แฉโกงตั้งแต่วิธีการทดลองไปจนถึงผลการทดลอง

คณะกรรมการได้พบว่า ค่าความไวต่อสนามแม่เหล็ก (Magnetic susceptibility) คือค่าบ่งบอกระดับการทำให้เป็นแม่เหล็กของวัสดุที่ตอบสนองต่อสนามแม่เหล็กได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในค่าที่บ่งบอกว่าสารดังกล่าวมีความเป็นตัวนำยิ่งยวดได้มากแค่ไหนของ Dias นั้นปั้นผลขึ้นมาทั้งหมด 


โดยก่อนหน้านี้ Dias ได้อ้างว่าพบค่าความไวต่อสนามแม่เหล็กในสารประกอบที่เจ้าตัวพบทั้งใน CSH ซึ่งเป็นสารประกอบที่มีส่วนผสมของคาร์บอน ซัลเฟอร์ และไฮโดรเจน และ LuH สารประกอบที่มีส่วนผสมของลูเทเทียม (Lutetium) กับไฮโดรเจน ที่อุณหภูมิห้อง แต่ความเป็นจริงคือผลลัพธ์นั้นเป็นชุดข้อมูลของนักวิจัยคนอื่น อีกทั้งในการทดลองจริง ๆ ก็ได้เอาผลการทดลองที่ไม่ตรงกับเป้าหมายออกไปจากการรายงานด้วย


นอกจากการรายงานผลที่เป็นเท็จแล้ว Interesting Engineering ยังรายงานอีกว่า Dias ยังแสร้งทำเป็นว่าทำวิจัยอย่างถูกต้องและปั่นหัวผู้ร่วมวิจัยเกือบทุกคน รวมถึงยังมีการพบว่า Dias ใช้รายงานวิจัยคนอื่นมาสรุปเป็นของตัวเองด้วยเช่นกัน


ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมการสอบสวนจึงลงมติว่า Dias กระทำความผิดในการละเมิดจริยธรรมนักวิจัย รวมถึงกล่าวต่อด้วยว่า Dias ไม่สมควรได้โอกาสในการทำงานใด ๆ ทั้งในภาควิชาการ การวิจัยในบริษัทเอกชน การสอนนักศึกษา ไม่ว่างานใด ๆ ก็ไม่ควรได้ทำ เพราะ Dias ไม่สามารถไว้วางใจได้อีกต่อไป


ข้อมูลจาก Interesting EngineeringNature

ภาพจาก American Physical Society


ข่าวแนะนำ