เอที-6 วูฟเวอรีน (AT-6 Wolverine) กองทัพอากาศไทย คุ้มค่าแค่ไหนถ้าเทียบกับเครื่องบินรบ ?
ส่องความคุ้มค่า “AT-6 Wolverines” เครื่องบินฝึกรุ่นใหม่ของกองทัพอากาศไทย กับการนำมาใช้ทั้งฝึกบินและปฏิบัติการทางทหาร เทียบกับเครื่องบินรบจริง ๆ !
กองทัพอากาศไทยกำลังจะมีเอทีซิกซ์ วูฟเวอรีน (AT-6 Wolverine) เครื่องบินฝึกแบบใบพัด ที่ชูจุดเด่นว่าสามารถปฏิบัติหน้าที่สนับสนุนทางอากาศให้กับหน่วยภาคพื้นดิน รวมถึงการลาดตระเวนชายแดนได้ อย่างไรก็ตาม มีกระแสความสงสัยในโลกโซเชียลมีเดียว่าเครื่องบินฝึกที่จะนำเอามาใช้งานนั้นคุ้มค่าอย่างไรเมื่อเทียบกับเครื่องบินขับไล่ที่ประจำการในกองทัพอากาศไทยในปัจจุบัน
AT-6 Wolverine กับความคุ้มค่าในการใช้ฝึก
ด้านแรกคือการฝึกตัวเครื่องบิน AT-6 Wolverine มีหลายส่วนของตัวเครื่องที่เป็นแบบเดียวกับที่เครื่องบินขับไล่แบบ F-16 ใช้งาน ตั้งแต่คันบังคับแบบที่เรียกว่าโฮแทส (HOTAS: Hands On Throttle-And-Stick) ซึ่งเป็นคันบังคับที่สามารถควบคุมทิศทางของตัวเครื่องบินและสั่งยิงอาวุธในตัวเดียวกัน รวมไปถึงหมวกนักบินแบบที่มีจอแสดงผลแบบเอชซีเอ็มเอส (joint Helmet Mounted Cueing System: HCMS) รวมถึงระบบสื่อสาร (Tactical Data Link) ซึ่งใช้ระบบเดียวกับทั้ง F-16 และ Gripen อย่าง Link-16 ที่เป็นมาตรฐาน NATO ด้วย
หรือโดยสรุปแล้ว นักบินของกองทัพอากาศที่จะฝึกบินกับเครื่องบิน AT-6 Wolverine เพื่อขับเครื่องบินขับไล่แบบ F-16 หรือแบบ Gripen อาจจะไม่ต้องปรับตัวมาก เพราะพื้นฐานการบินจาก AT-6 Wolverines ใกล้เคียงกันทั้งในแง่ของระบบการบังคับ ระบบการควบคุม และรวมถึงระบบการสื่อสาร แม้ว่าในไทยจะมีระบบ Tactical Data Link ของตัวเองอย่าง Link-TH ก็ตาม
AT-6 Wolverine กับความคุ้มค่าในการใช้งาน
หนึ่งในจุดเด่นสำคัญของ AT-6 Wolverine คือความสามารถในการติดอาวุธเพื่อปฏิบัติภารกิจทางการทหาร โดยตัวเครื่องบินรองรับการติดอาวุธแบบอากาศสู่พื้น 6 จุด ตามเสายึดโครงปีกของตัวเครื่อง โดยติดได้ตั้งปืนกล รวมไปถึงจรวดนำวิถีด้วยเลเซอร์หลากหลายรุ่นตามมาตรฐาน NATO โดยรองรับน้ำหนักของระบบอาวุธทั้งหมดไม่เกิน 1,800 กิโลกรัม และทำความเร็วได้สูงสุด 510 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระยะเวลาปฏิบัติการต่อเนื่องสูงสุด 7.5 ชั่วโมง เมื่อติดตั้งถังน้ำมันเสริม 4 ถัง
ความคุ้มค่าในการใช้งานยังครอบคลุมถึงเรื่องของค่าใช้จ่าย เนื่องจาก AT-6 Wolverine มีค่าใช้จ่ายในการบินชั่วโมงละประมาณ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นประมาณ 72,000 บาท แต่เครื่องบินรบโดยทั่วไปจะเริ่มตั้งแต่ 5,000 - 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือสูงสุดเกือบ 360,000 บาทต่อชั่วโมง จึงเห็นได้ว่าการใช้งาน AT-6 Wolverine ในภารกิจสนับสนุนทหารราบที่ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องบินรบจึงคุ้มค่าในเชิงงบประมาณมากกว่า โดยกองทัพอากาศไทยได้เตรียมนำ AT-6 Wolverine เข้าประจำการจำนวน 2 ลำ ภายในเดือนมิถุนายนนี้ และที่เหลืออีก 6 ลำ จะทยอยเข้าประจำการต่อไป
ข้อมูลจาก Textron Aviation, Thaiarmedforce, Wikipedia, Air And Space Forces
ภาพจาก Beechcraft Defense, Wikicommons
ข่าวแนะนำ