TNN บอลลูนท่องอวกาศ Spaceship Neptune คืบหน้า เผยโฉมโครงสร้างของจริง

TNN

Tech

บอลลูนท่องอวกาศ Spaceship Neptune คืบหน้า เผยโฉมโครงสร้างของจริง

บอลลูนท่องอวกาศ Spaceship Neptune คืบหน้า เผยโฉมโครงสร้างของจริง

อัปเดตความคืบหน้า บอลลูนท่องอวกาศ Spaceship Neptune เผยโฉมโครงสร้างของจริง เตรียมพานักท่องเที่ยวชมบรรยากาศสุดขอบโลกปลายปี 2024

สเปซ เพอร์สเปกทีพ (Space Perspective) บริษัทท่องเที่ยวอวกาศสัญชาติอเมริกัน เผยโฉมความคืบหน้าการก่อสร้างห้องโดยสาร ของบริการบอลลูนท่องอวกาศ สเปซชิป เนปจูน (Neptune) ที่ล่าสุดประกอบโครงสร้างภายนอกแล้วเสร็จ เข้าใกล้เป้าหมายการให้บริการเชิงพาณิชย์ไปอีกขั้น


บอลลูนท่องอวกาศ Spaceship Neptune คืบหน้า เผยโฉมโครงสร้างของจริง ภาพจาก Space Perspective

 

บริษัทได้เผยความคืบหน้านี้ ด้วยการปล่อยวิดีโอเผยโฉมแรกของโครงสร้างห้องโดยสารจริง บนช่องยูทูปของบริษัท เมื่อวันที่ 16 ธันวาคมที่ผ่านมา เผยให้เห็นรูปร่างจริงของห้องโดยสารทรงกลม ซึ่งบริษัทระบุว่าขณะนี้โครงสร้างแคปซูลของสเปซชิป เนปจูนเสร็จสมบูรณ์แล้ว และจะนำไปใช้ในเที่ยวบินทดสอบแบบไร้ลูกเรือในครั้งถัดไป ที่เรียกว่า ไฟลท์ทู (Flight 2)

บอลลูนท่องอวกาศ Spaceship Neptune คืบหน้า เผยโฉมโครงสร้างของจริง ภาพจาก Space Perspective

 

ทั้งนี้เมื่อปี 2021 บริษัทเคยประสบความสำเร็จในการจัดเที่ยวบินทดสอบ ไฟลท์วัน (Flight 1) ที่ส่งแคปซูลโดยสารจำลองออกไปแตะขอบชั้นบรรยากาศที่ความสูง 100,000 ฟุต หรือราว 30 กิโลเมตร จึงนำข้อมูลที่ได้มาพัฒนาแคปซูลที่มีแรงดันตัวล่าสุดนี้ ซึ่งจะนำไปใช้ในเที่ยวบินทดสอบ ไฟลท์ทู (Flight 2) เพื่อเก็บข้อมูลต่อสำหรับการสร้างแคปซูลเกรดเชิงพาณิชย์ ปูทางสำหรับเที่ยวบินทดสอบที่มีลูกเรือในปลายปีหน้า

บอลลูนท่องอวกาศ Spaceship Neptune คืบหน้า เผยโฉมโครงสร้างของจริง ภาพจาก Space Perspective

 

สำหรับแคปซูลท่องอวกาศสเปซชิป เนปจูน ขึ้นชื่อในเรื่องการออกแบบเพื่อความยั่งยืนและความเป็นมิตรต่อโลก โดยข้อมูลบนเว็บไซต์ของบริษัทระบุว่าแคปซูลลำนี้จะใช้เทคโนโลยีการลอยตัวสูงขึ้นจากพื้นโลกด้วยบอลลูนอวกาศ ซึ่งขับเคลื่อนด้วยก๊าซไฮโดรเจนหมุนเวียน ปราศจากการใช้จรวดและระบบขับเคลื่อนอื่น ๆ ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก

บอลลูนท่องอวกาศ Spaceship Neptune คืบหน้า เผยโฉมโครงสร้างของจริง ภาพจาก Space Perspective

 

โดยแคปซูลจะลอยตัวขึ้นสูงด้วยบอลลูนอวกาศอย่างช้า ๆ ด้วยความเร็ว20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขึ้นไปที่ระดับความสูงประมาณ 32 กิโลเมตร ซึ่งถึงแม้จะยังไม่ถูกจัดเป็นบริเวณเหนือเส้นแบ่งพรมแดนอวกาศที่ระดับความสูง 100 กิโลเมตร หรือเส้นคาร์แมน (Karman Line) แต่ด้วยระดับความสูงดังกล่าวเพียงพอที่จะทำให้นักท่องเที่ยวมองเห็นความสวยงามของโลกและอวกาศได้


ส่วนกำหนดการเดินทางและค่าบริการ บริษัทได้เผยข้อมูลไว้บนหน้าเว็บไซต์ของบริษัทโดยคาดว่าเที่ยวบินแรก จะสามารถเปิดให้เดินทางได้ภายในปลายปี 2024 โดยสนนราคาตั๋วเที่ยวบินต่อ 1 คนอยู่ที่ 125,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 4,300,000 บาท


ข้อมูลจาก facebook, tnnthailand, spaceperspective

ข่าวแนะนำ