5 เทคโนโลยีที่เกษตรกรไทยใช้ให้เป็นแล้วจะปัง
สรุปข้อมูลเบื้องต้น 5 เทคโนโลยี ที่เกษตรกรไทยควรเรียนรู้ไว้ เพื่อประโยชน์ของตนเอง และเพิ่มผลผลิตด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมยุคใหม่
เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงโลกในหลากหลายด้าน และเทคโนโลยีได้เข้ามามีส่วนในการยกระดับการผลิตในอุตสาหกรรมทั้งเชิงคุณภาพและปริมาณ ไม่ว่าจะเป็น AI หรือระบบคลาวด์ ดังนั้น การทำการเกษตรที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมการผลิตอาหารก็อยู่ในยุคที่ปรับตัวเข้าหาเทคโนโลยีมากขึ้นเช่นกัน โดย TNN Tech ได้รวบรวม 5 เทคโนโลยี ที่เหมาะกับเกษตรกรไทยไม่ว่าจะเป็นชาวนา ชาวไร่ ชาวสวนที่ควรรู้ไว้เพื่อให้การทำนาหรือการทำสวนมีผลผลิตที่ดีขึ้น
5 เทคโนโลยีที่เหมาะกับเกษตรกรไทย
1. ปัญญาประดิษฐ์ (AI)
ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นคำที่ได้ยินจนชินหูว่ามีประโยชน์หลากหลายด้าน ซึ่งการเกษตรเองก็มีความเกี่ยวข้องกับ AI เช่นกัน ตัวอย่างเช่น AI สามารถวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากเซนเซอร์ที่ติดตั้งในแปลงนา หรือว่าในไร่สวน เพื่อนำเสนอแนวทางการแก้ปัญหา หรือการยกระดับผลผลิต รวมถึงยังช่วยทำข้อมูลสภาพอากาศในพื้นที่เพื่อทำให้เกษตรกรรับมือสภาพอากาศ เช่น ฝน ความชื้น ซึ่งเกี่ยวข้องกับโรคพืชและศัตรูพืชโดยตรงอีกด้วย
2. เซนเซอร์ (Sensor)
อย่างที่กล่าวไปว่า AI สามารถนำข้อมูลสภาพแวดล้อมพื้นที่การเกษตรมาวิเคราะห์ได้ ดังนั้น เซนเซอร์ที่ใช้วัดปริมาณหรือค่าข้อมูลต่าง ๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเซนเซอร์จะเป็นสิ่งที่ทำให้เกษตรกรทราบถึงข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวกับพืช เช่น สุขภาพพืชโดยรวมจากการวัดค่าต่าง ๆ ด้วยเซนเซอร์ที่ติดตั้งรอบพื้นที่ อุณหภูมิ คุณภาพดินจากค่าไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และออกซิเจนในดิน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นข้อมูลมิติใหม่ทีทำให้การทำนาหรือสวนมีหลักการทำงานที่รัดกุมและเข้าใจปัจจัยต่าง ๆ ได้มากขึ้นตามไปด้วย
3. คลาวด์ (Cloud computing)
การทำงานสอดประสานอย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำของ AI กับเซนเซอร์ จำเป็นต้องมีหน่วยประมวลผลความเร็วสูง ดังนั้น คลาวด์ที่เป็นระบบประมวลผล จัดเก็บข้อมูลมหาศาลที่ได้จากเซนเซอร์ ซึ่งเข้าถึงได้ง่ายด้วยอินเทอร์เน็ต จึงเป็นคำตอบสำหรับการผนวกรวมเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อเกษตรกรเข้าด้วยกัน อีกทั้งยังทำให้เห็นภาพรวมของไร่นาหรือไร่สวนได้ง่ายมากขึ้นด้วยเช่นกัน
4. โดรน
โดรนเป็นตัวอย่างอุปกรณ์เทคโนโลยีการเกษตรที่เห็นได้ชัดมากที่สุด ยกตัวอย่างเช่น โดรนสามารถดัดแปลงมาทำเป็นเครื่องพ่นยา แทนการใช้เครื่องบิน หรือแรงงานคนที่เปลืองค่าใช้จ่ายมากกว่า รวมถึงสามารถบินตรวจตราไร่นาหรือไร่สวนเพื่อดูความผิดปกติของพืช เช่น โรคที่มองเห็นได้ชัด หรือสัตว์ แมลงต่าง ๆ เป็นต้น
5. หุ่นยนต์
ปัจจุบัน การทำการเกษตรขนาดใหญ่จำเป็นต้นลดต้นทุนแรงงานที่เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้กำไรในการทำการเกษตรลดลง ดังนั้น หุ่นยนต์จะเข้ามาทำหน้าที่ที่มักเป็นงานประจำ งานซ้ำซาก แต่ใช้แรงงานเยอะ เช่น หุ่นยนต์เก็บผลผลิต ที่อาจจะเป็นผลไม้ หรือหุ่นยนต์กำจัดแมลง หุ่นยนต์ให้ปุ๋ย รวมถึงล่าสุดที่เพิ่งเป็นข่าวไปอย่างหุ่นยนต์กำจัดวัชพืชจากสวีเดน ตัวอย่างเหล่านี้คือการนำหุ่นยนต์มาแก้ปัญหาเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำการเกษตรกรรม
และทั้งหมดนี้คือ 5 เทคโนโลยีสำคัญที่เกษตรกรไทยสามารถเรียนรู้เพื่อมุ่งสู่การทำเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) ได้ โดยในปัจจุบันมีทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่สนใจเสนอผลิตภัณฑ์และบริการในด้านดังกล่าว รวมไปถึงแอ็กซอน (Axon) บริษัทเทคโนโลยีการเกษตรชื่อดังที่นำเสนอบริการเหล่านี้ด้วยการทำงานของโค้ด (Coding) คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ IoT เพื่อการเกษตรเป็นต้น
ที่มาข้อมูล IoT Business News, Axon
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67