TNN เจาะเบื้องหลังเทคโนโลยีหุ่นยนต์ฝีมือคนไทย | TNN Tech Reports

TNN

Tech

เจาะเบื้องหลังเทคโนโลยีหุ่นยนต์ฝีมือคนไทย | TNN Tech Reports

เจาะเบื้องหลังเทคโนโลยีหุ่นยนต์ฝีมือคนไทย | TNN Tech Reports

ปัจจุบันหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติถือเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่มีการใช้งานอย่างแพร่หลายและเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังจากเกิดการระบาดของโควิด -19 เป็นต้นมา ไม่ว่าจะเป็นหุ่นยนต์อุตสาหกรรม และหุ่นยนต์บริการ ต่างก็มีสัดส่วนการใช้งานที่เพิ่มมากขึ้น



ปัจจุบันหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติถือเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่มีการใช้งานอย่างแพร่หลายและเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังจากเกิดการระบาดของโควิด -19 เป็นต้นมา ไม่ว่าจะเป็นหุ่นยนต์อุตสาหกรรม และหุ่นยนต์บริการ  ต่างก็มีสัดส่วนการใช้งานที่เพิ่มมากขึ้น


รายงานจาก Statista บริษัทด้านข้อมูลตลาดและผู้บริโภคระดับโลก คาดการณ์ว่า 

  • ในปี 2023 รายได้ตลาดหุ่นยนต์ทั่วโลกจะสูงถึง 37,370 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.29 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2022 ซึ่งอยู่ที่ 31,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1 ล้านล้านบาท

  • และจะเติบโตมีมูลค่าสูงถึง 45,090 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท ในปี 2028


แรงงานขาดแคลน ?


ด้วยความนิยมใช้งานหุ่นยนต์ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้ความต้องการบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์เพิ่มขึ้นตามไปด้วย 


ข้อมูลจาก แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ผู้นำระดับโลกด้านการจัดหาบุคลากรและที่ปรึกษาด้านแรงงาน ระบุว่า

บุคลากรสายงานไอที เป็นกลุ่มงานที่ตลาดแรงงานมีความต้องการสูงที่สุด และยังขาดแคลนแรงงานจำนวนมาก 


ด้วยเหตุนี้ สถาบันการศึกษาจึงเข้ามามีความสำคัญในฐานะผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้และผลิตแรงงาน หนึ่งในนั้นคือ สถาบันหุ่นยนต์วิทยาการภาคสนามหรือ ฟีโบ้ ภายใต้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 


โดยนอกจาก การสอนทฤษฎีแล้ว ยังมีการร่วมมือกับภาคเอกชน และอุตสาหกรรม  ในการพบปะกับนักศึกษา เพื่อให้เกิดการคิดค้นพัฒนาหุ่นยนต์ที่สามารถตอบโจทย์การใช้งานได้จริง หรือเพิ่มโอกาสเข้าสู่ตลาดทั้งหุ่นยนต์และแรงงานได้มากขึ้น


หนึ่งในนั้นคืองาน 0110 ASIA TECHLAND 2023 งานแสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยีจากทั่วโลก ซึ่งจัดขึ้นเมื่อช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2566


Meta Market 


Meta Market เป็นเทคโนโลยีการเลือกซื้อสินค้าในซูปเปอร์มาร์เก็ตบนสภาพแวดล้อมเสมือนหรือ Metaverse เพื่อตอบโจทย์การซื้อสินค้าได้จากทุกที่ทุกเวลา ผ่านอุปกรณ์แว่นตา VR  โดยนำเอาหุ่นยนต์เข้ามาเป็นเครื่องมือในการหยิบจับสินค้าบนชั้นวางสินค้าในโลกจริง แทนมือของคน


พูดง่าย ๆ ก็คือ หากเราชอปปิงสินค้าชิ้นไหนในซูเปอร์มาร์เก็ตในโลกเสมือน ผ่านแว่นตา VR แล้ว จากนั้นหุ่นยนต์ก็จะเคลื่อนที่ไปหยิบสินค้าชิ้นนั้น แล้วนำไปชำระเงิน ต่อด้วยเข้าสู่ระบบขนส่ง และเราก็รอรับสินค้า


โดยหุ่นยนต์ที่ใช้เป็นหุ่นยนต์ประเภท Collaborative robot  เรียกสั้น ๆ ว่า Co Bot หรือ หุ่นยนต์ที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้งานร่วมกับมนุษย์อย่างปลอดภัย ในภาคอุตสาหกรรม


ซึ่งการทำงานจะประกอบไปด้วย 2 ส่วน คือ 1 ส่วนของฮาร์ดแวร์หรือตัวหุ่นยนต์แขนกล ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ โดยสามารถหยิบจับของน้ำหนักสูงสุด 5 กิโลกรัม ส่วนที่ 2 ซอฟต์แวร์ หรือส่วนของการป้อนคำสั่งหรือโปรแกรมการเคลื่อนที่เพื่อให้หุ่นยนต์ทำงานในระบบ Virtual ซึ่งส่วนนี้แหละค่ะคือส่วนที่เป็นฝีมือการพัฒนาของนักศึกษาไทย


แม้ว่าขณะนี้จะเป็นเพียงตัวอย่างคอนเซ็ปต์ชิ้นงาน แต่หากได้รับการพัฒนาต่อไป ก็อาจจะประยุกต์ใช้ได้จริงกับหลาย ๆ งาน เช่น ภายในคลังสินค้า ร้านหนังสือ หรือห้องสมุด  


Ice Cream robot


ขณะที่หุ่นยนต์อีกชนิดหนึ่งที่น่าสนใจภายในงานก็คือ หุ่นยนต์ทำอาหาร เช่น หุ่นยนต์ไอศกรีม  โดยเป็นลักษณะของหุ่นยนต์แขนกลประกอบเข้ากับรถไอศกรีม 


ตัวแขนกลถูกออกแบบให้ทำงานเกี่ยวกับอิเล็กทรอนิกส์ชิ้นเล็ก ๆ ทำให้สามารถรับน้ำหนักได้ไม่เกิน 500 กรัม หรือครึ่งกิโล และในส่วนของการทำงานทั้งหมดก็เกิดการจากการใส่โปรแกรมที่นักพัฒนาเขียนขึ้น  


ปัจจุบันหุ่นยนต์แขนกลเสิร์ฟไอศกรีมนี้ ยังเป็นเพียงคอนเซ็ปต์หรือหุ่นยนต์ไอศกรีมต้นแบบเท่าน้ัน  แต่ก็ถือเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสามารถของหุ่นยนต์ ที่อาจจะถูกพัฒนาและนำไปใช้ในแวดวงอาหารอย่างแพร่หลายในอนาคต 


หุ่นยนต์ลวกก๋วยเตี๋ยว


ภายในงานเดียวกันยังมีการแสดงความสามารถของหุ่นยนต์ลวกก๋วยเตี๋ยว ซึ่งได้รับความสนใจไม่น้อยเช่นกัน โดยก๋วยเตี๋ยวหนึ่งชามจากฝีมือเจ้าหุ่นยนต์ ใช้เวลาประมาณไม่เกิน 2 นาที 


นอกจากเรื่องของการออกแบบท่าทางแล้ว ยังมีรายละเอียดในส่วนอื่น ๆ เช่น อุณหภูมิในการลวกเส้น  ลวกผัก ที่ต้องเหมาะสมกับวัตถุดิบแต่ละประเภท และเพื่อให้รสชาติของก๋วยเตี๋ยวออกมาเหมือนเดิมมากที่สุด


โดยหุ่นยนต์ที่ใช้เป็นหุ่นยนต์ Co Bot มีเซนเซอร์ป้องกันการชนเพื่อการใช้งานร่วมกับมนุษย์อย่างปลอดภัย ลักษณะแขนกลมี 6 ข้อต่อ ระยะในการหยิบจับอยู่ที่ 95 เซนติเมตร รับน้ำหนักได้ 5 กิโลกรัม ใช้พลังงานไฟฟ้า 220 โวลต์ ในการทำงาน


แม้ว่าหุ่นยนต์ทำก๋วยเตี๋ยวนี้จะเป็นผลงานต้นแบบที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อแสดงภายในงานเท่านั้น แต่ปัจจุบันก็มีบริษัทอาหารหลายบริษัทให้ความสนใจและกำลังพูดคุยกันถึงการนำหุ่นยนต์ทำก๋วยเตี๋ยวมาใช้งานจริงในอนาคต


โดยผลงานนี้ เป็นการพัฒนาจาก บริษัท ANT Robotics บริษัทสตาร์ตอัปด้านหุ่นยนต์และกลไกอัตโนมัติ ซึ่งก่อตั้งบริษัทมานาน 4 ปี  โดยที่ผู้ก่อตั้งทั้งหมดก็คือศิษย์เก่าของสถาบันฟีโบ้นั่นเอง



หุ่นยนต์ยกกระสอบ


หุ่นยนต์ยกกระสอบ ที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมเป็นอีกหนึ่งผลงานของ ANT Robotics ซึ่งพัฒนาขึ้นตามความต้องการของโรงงาน และตอบโจทย์ในหลายเรื่อง ทั้งช่วยทุนแรงคน ประหยัดเวลาในการยกกระสอบ รวมถึงมีรูปแบบการจัดเรียงกระสอบที่สมำเสมอมากกว่าแรงงานคน 


โดยหุ่นยนต์ที่ใช้เป็นหุ่นยนต์จัดเรียงสินค้าบนพาเลทอัตโนมัติ หรือ Robotic Palletizer มีจำนวน 4 ข้อต่อ 


น้ำหนักที่ยกต่อครั้ง รวม 100 กิโลกรัม ระยะใช้งานของแขนประมาณ 2 เมตร - 2.50 เมตร  ใช้ไฟฟ้า 380 โวลต์ ตามมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรม 


ซึ่งการใช้หุ่นยนต์ยกกระสอบจะช่วยประหยัดเวลาและเพิ่มประสิทธิภาพการยกของได้มากขึ้น จากเดิมหากใช้แรงงานคน จะสามารถยกได้ 88 กระสอบ ต่อ 1 ชั่วโมง แต่หุ่นยนต์สามารถทำได้ 120 กระสอบ  โดยใช้เวลายกแต่ละกระสอบเพียง 30 วินาที


หุ่นยนต์ประเภทนี้มีการใช้งานโดยทั่วไป แต่จะแตกต่างกันที่ System Integrator หรือรูปแบบของการออกแบบโปรแกรมคำสั่งใช้งานจากผู้พัฒนา เพื่อให้ตอบโจทย์โรงงานอุตสาหกรรมมากที่สุด  และเนื่องจากสามารถควบคุมกระบวนการ พัฒนาและขึ้นชิ้นงานต่าง ๆ ภายในโรงงานของตัวเองได้เกือบทั้งหมด  ทำให้สามารถควบคุมต้นทุนได้ต่ำกว่า  เมื่อเทียบกับความสามารถของหุ่นยนต์ระดับเดียวกันในต่างประเทศ ที่ราคาไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท  


แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีข้อจำกัดอยู่ในเรื่องของการใช้งานที่ซับซ้อน ซึ่งผู้ใช้ต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับหุ่นยนต์ประเภทนี้ เพื่อให้การเกิดประสิทธิภาพสูงสุด 


ส่วนการพัฒนาในอนาคต ANT Robotics มีแผนที่จะนำเทคโนโลยีสุดฮิตอย่าง AI หรือปัญญาประดิษฐ์ เข้ามาประยุกต์ใช้กับหุ่นยนต์ด้วย เช่น  AI Vision หรือการนำเอไอมาใช้ประมวลผลแยกวัตถุจากภาพที่เห็น


ข่าวแนะนำ