AI สุดล้ำทำแผนที่ภูเขาน้ำแข็ง เสริมศักยภาพติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นักวิจัยใช้ AI ในการติดตามและทำแผนที่ก้อนภูเขาน้ำแข็งยักษ์ ซึ่งการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการทำแผนที่นี้ทำได้เร็วกว่าวิธีเดิม และยังมีความแม่นยำกว่าในระดับอัปเดตแบบเรียลไทม์
นักวิจัพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ช่วยทำแผนที่ระบุขอบเขตของก้อนภูเขาน้ำแข็งขนาดใหญ่จากภาพถ่ายดาวเทียมได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ เสริมศักยภาพการติดตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ดียิ่งขึ้น
ระบบปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอที่ว่านี้ ใช้ภาพถ่ายดาวเทียมของสำนักงานอวกาศยุโรป (ESA) ในการฝึกฝนอัลกอริทึมสำหรับใช้ระบุจุดภูเขาน้ำแข็ง จัดทำแผนที่ และติดตามความเปลี่ยนแปลงของภูเขาน้ำแข็งได้อย่างรวดเร็ว
โดยทีมพัฒนาระบุว่ามันสามารถทำงานให้สำเร็จได้ภายในเวลา 0.01 วินาที ซึ่งถือว่าเร็วมาก เมื่อเทียบกับมนุษย์ที่อาจใช้เวลาหลายนาทีหรือหลายชั่วโมงในการทำงานเดียวกัน และยังแม่นยำกว่าระบบอัตโนมัติที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันอีกด้วย ที่มักจะเจอปัญหาว่าระบบยังแยกภาพภูเขาน้ำแข็ง ออกจากวัตถุอื่น ๆ ได้ยาก
นอกจากนี้ ระบบเอไอตัวใหม่ ยังสามารถให้ข้อมูลเพิ่มเติม เกี่ยวกับรูปร่างและขนาดของภูเขาน้ำแข็ง ซึ่งเหนือกว่าระบบการทำแผนที่ปัจจุบัน ความก้าวหน้าครั้งนี้ จึงช่วยเปิดทางให้ทีมวิจัยมีข้อมูลในการศึกษาวิจัยได้ดีขึ้น
โดย ดร. แอนน์ บรักมันน์-โฟลกมันน์ (Dr. Anne Braakmann-Folgmann) ผู้นำการศึกษาวิจัยนี้ ขณะกำลังศึกษาในระดับปริญญาเอกที่ศูนย์การสังเกตการณ์และติดตามขั้วโลกที่มหาวิทยาลัยลีดส์ ระบุว่าด้วยระบบเครือข่ายเอไอตัวใหม่ ทำให้ทีมวิจัย สามารถคำนวณหาพื้นที่ผิวของภูเขาน้ำแข็งได้ และเมื่อนำไปใช้กับภาพหลายภาพของภูเขาน้ำแข็งก้อนเดียวกัน ก็จะทำให้เห็นว่ามันมีการละลาย หรือแตกออกอย่างไรแล้วบ้าง
การติดตามการเปลี่ยนแปลงของภูเขาน้ำแข็ง ถืออว่าเป็นภารกิจที่มีความสำคัญ เพราะการเพิ่มหรือลดลงของน้ำในมหาสมุทร ส่งผลต่อความปลอดภัยและระบบนิเวศทางทะเล ไปจนถึงการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ นักวิจัยจึงหวังว่าระบบเอไอตัวใหม่นี้ จะมาเสริมศักยภาพการทำงานของทีมวิจัย อีกทั้งยังช่วยให้ติดตามการเปลี่ยนแปลงของภูเขาน้ำแข็งในพื้นที่ห่างไกลและเข้าถึงได้ยากได้แบบเรียลไทม์
ข้อมูลจาก reutersconnect, esa
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67