TNN สำเร็จอย่างงดงาม ! แท็กซี่บินได้สัญชาติสหรัฐฯ สาธิตการบินครั้งแรกใน LA

TNN

Tech

สำเร็จอย่างงดงาม ! แท็กซี่บินได้สัญชาติสหรัฐฯ สาธิตการบินครั้งแรกใน LA

สำเร็จอย่างงดงาม ! แท็กซี่บินได้สัญชาติสหรัฐฯ สาธิตการบินครั้งแรกใน LA

Wisk Aero บริษัทลูกของ Boeing สาธิตการบินของอากาศยานบินขึ้นลงแนวดิ่งต่อสาธารณะครั้งแรกที่ลอสแอนเจลิสในงานครบรอบ 100 ปีของสนามบินลองบีช ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม

วิสก์ แอโร่ (Wisk Aero) บริษัทพัฒนาแท็กซี่บินได้พลังงานไฟฟ้า ในเครือบริษัทผลิตเครื่องบินยักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกันอย่างโบอิ้ง (Boeing) ได้สาธิตการบินของอากาศยานบินขึ้นลงในแนวดิ่ง (eVTOL) ต่อสาธารณะครั้งแรกที่ลอสแอนเจลิส ในงานครบรอบ 100 ปีของสนามบินลองบีช ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม


วิสก์ แอโร่ เปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2010 ตอนแรกมีชื่อว่าซี แอโร่ (Zee Aero) ต่อมาได้ควบรวมกิจการกับบริษัทคิตตี้ ฮอว์ค คอร์ปอเรชัน (Kitty Hawk Corporation ) และหลังจากสร้างซี แอโร่มาถึงรุ่นที่ 5 ทีมงานก็แยกตัวออกมาก่อตั้งวิสก์ แอโร่ ด้วยเงินลงทุนจากบริษัทโบอิ้ง และปัจจุบันมันก็ได้กลายเป็น eVTOL บริษัทแรกที่จะได้ขึ้นบินทดสอบในลอสแอนเจลิส


ทั้งนี้ในระหว่างเทศกาลการบินของลองบีช วิสก์ แอโร่ ประสบความสำเร็จในการบินทดสอบ ซึ่งเครื่องที่ใช้บินเป็นรุ่นที่ 5 มี 4 ที่นั่ง ปีกเครื่องยาว 15 เมตร บินได้สูงสุดประมาณ 1,220 เมตรเหนือพื้นโลก ด้วยความเร็วสูงสุดประมาณ 220 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ที่สำคัญคือเป็นการบินแบบอัตโนมัติโดยไม่ต้องมีมนุษย์ขับบนเครื่อง


หลังจากจบงานสาธิต วิสก์ แอโร่และโบอิ้งก็ได้สนทนากับนายกเทศมนตรีของลองบีช รวมถึงเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น เพื่อหารือเกี่ยวกับอนาคตของ Advanced Air Mobility (AAM) หรือการคมนาคมทางอากาศขั้นสูง ซึ่งนายกเทศมนตรีเร็กซ์ ริชาร์ดสัน (Rex Richardson) ก็ได้แสดงความคิดเห็นว่าภูมิใจมากที่ได้เห็นนวัตกรรมแห่งอนาคตกำลังจะเกิดขึ้นจริง


ทั้งนี้วิสก์ แอโร่ กำลังพัฒนาอากาศบินรุ่นที่ 6 แล้ว คาดว่าจะสามารถบรรจุผู้โดยสารได้อย่างน้อย 4 คน มีพิสัยการบิน 145 กิโลเมตร มีระบบการบินอัตโนมัติ และที่สำคัญคือใช้เวลาชาร์จแบตเตอรี่เพียง 15 นาที


ทั้งนี้ วิสก์ แอโร่ ไม่ได้เป็นเพียงบริษัทเดียวที่มีการพัฒนาอากาศยานบินขึ้นลงแนวดิ่งพลังงานไฟฟ้า บริษัทพัฒนา eVTOL อีกหนึ่งเจ้าอย่างโจบี้ เอวิเอชัน (Jovy Aviation) ก็ได้มีการทดสอบการบินครั้งแรกโดยมีนักบินอยู่บนเครื่องไปแล้ว ส่วนอากาศยานบินของบริษัทสัญชาติจีนอย่างอี้หาง (eHang) นำหน้าไปก่อน เพราะได้รับใบอนุญาตให้สามารถบริการเชิงพาณิชย์ได้เรียบร้อยแล้ว



ที่มาข้อมูล Electrek, Iotworldtoday

ที่มารูปภาพ Wisk Aero

ข่าวแนะนำ