กังหันลมแบบใหม่ใบเดียวก็พอ ! ถูกกว่า แรงกว่า ผลิตไฟฟ้าได้ในทุกสถานการณ์
สตาร์ตอัปเนเธอร์แลนด์เปิดเผยแนวคิดกังหันลมผลิตไฟฟ้าแบบใหม่ ที่ใช้ใบพัดแค่ใบเดียว พร้อมระบบติดตั้งแบบใหม่ที่ทำให้ใช้งานได้ในทุกสถานการณ์อย่างมีประสิทธิภาพในราคาที่ถูกกว่ากังหันลมแบบเดิม
ทัชวินด์ (Touchwind) สตาร์ตอัปจากเนเธอร์แลนด์ เผยโฉมกังหันลมนอกชายฝั่ง (Offshore wind turbine) แบบใหม่ ที่ใช้ใบพัดเพียงอันเดียวในการรับลม พร้อมเคลมว่าสามารถผลิตไฟฟ้าได้ต่อเนื่องและมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าถึงครึ่งหนึ่ง พร้อมความสามารถในการผลิตไฟฟ้าได้ในทุกสถานการณ์ไม่เว้นแม้แต่พายุฝนลมแรง
ข้อมูลกังหันลมแบบใหม่จากเนเธอร์แลนด์
ตัวกังหันลมมีลักษณะเป็นเสาเอียง ปลายจุดหมุน (Rotor) ติดตั้งใบพัดเดี่ยวที่มีขนาดใหญ่ ในขณะเดียวกันก็มีสายร้อยลูกตุ้มถ่วงลงทะเล ในขณะที่ฐานจะเป็นทุ่นลอยทรงกระบอกขนาดใหญ่ โดยมีโซ่ร้อยเข้ากับสมอที่ถ่วงใต้ทะเลสำหรับยึดตำแหน่งตัวกังหันลม
ทางผู้พัฒนาได้ออกแบบให้ใบพัดกังหันลมแบบใหม่มีความยาวประมาณ 200 เมตร ซึ่งเป็นขนาดมาตรฐานสำหรับกังหันลมทั่วไปที่มีกำลังการผลิต 12 เมกะวัตต์ (MW) จึงทำให้สามารถขนย้ายผ่านท่าเรือทั่วไปได้สะดวก โดยตัวใบพัดนี้จะรองรับการใช้งานแม้อยู่กลางกระแสลมที่มีความเร็วถึง 252 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ต่างจากกังหันลมทั่วไปเมื่อลมแรงเกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กังหันลมจะต้องหยุดทำงาน
ส่วนกังหันลมของทัชวินด์ ได้รับการออกแบบให้ยกตัวโดยอาศัยแรงลมพายุแบบไม่ต้องมีกลไกไฟฟ้าใด ๆ เพื่อให้ยังคงสามารถทำงานได้ตามปกติแม้ว่าจะมีลมพายุที่แรงมากขึ้นก็ตาม และเมื่อลมสงบ ลูกตุ้มที่ถ่วงจุดหมุนเอาไว้จะค่อย ๆ ดึงกังหันลมลงเพื่อให้ทำมุมกับกระแสลมปกติตามเดิม
แผนการพัฒนากังหันลมแบบใหม่ของเนเธอร์แลนด์
ความสามารถดังกล่าวทำให้กังหันลมแบบใหม่ใบพัดเดียวตัวนี้สามารถปั่นกระแสไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงต้นทุนการผลิตใบพัดที่ลดลงถึงร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับใบพัดกังหันลมปกติที่ต้องผลิตสำหรับ 3 ใบพัด ซึ่งทั้งหมดนี้ผ่านการทดสอบต้นแบบแล้ว โดยนอกจากแบบลอยน้ำ (Floating wind turbine) แล้วยังมีแบบปักเสากับพื้นดินด้วย โดยกังหันลมแบบใหม่ของทัชวินด์ยังอยู่ในช่วงการพัฒนามาตั้งแต่ปี 2018 ซึ่งล่าสุดในปีนี้ได้มีการทดสอบระบบทุ่นลอยตัวที่สถาบันมาริน (MARIN: Maritime Research Institute Netherlands) ซึ่งเป็นทดสอบต้นแบบฐานสำหรับใบพัดขนาด 150 เมตร เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทางบริษัทจะชูจุดเด่นด้านต้นทุนการผลิต และการมีชั่วโมงการผลิตที่มากขึ้น แต่นิว แอตลาส (New Atlas) สำนักข่าวเทคโนโลยีชื่อดัง ตั้งข้อสงสัยว่าบริษัทยังไม่ได้เปิดเผยต้นทุนต่อหน่วยการผลิตไฟฟ้าตลอดอายุการใช้งานสุทธิหรือ LCoE (Levelized Cost of Energy) ว่าจะต่ำพอที่จะนำมาผลิตกระแสไฟฟ้าขายเชิงพาณิชย์หรือไม่ แต่ทางบริษัทได้มีพันธมิตรร่วมลงทุนหลายราย รวมถึงมิตซุย โอเอสเค ไลน์ส (Mitsui O.S.K. Lines) บริษัทเดินเรือจากญี่ปุ่นเป็นรายล่าสุดในปัจจุบัน
ที่มาข้อมูล New Atlas
ที่มารูปภาพ Touchwind
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67