กินชีสแถมชิป ! อิตาลีผุดไอเดียสุดล้ำทำลายขบวนการชีสปลอม
องค์การด้านพาเมซานชีสในอิตาลี ผุดไอเดียในการแก้ปัญหาชีสปลอมที่ส่งผลต่อผู้ผลิตชีสในอิตาลี ด้วยการฝังชิปเพื่อใช้แยกชีสแท้ขึ้นมา
พาเมซานชีส เป็นหนึ่งในชีสยอดนิยมที่จะนึกถึงอิตาลีทันทีในฐานะแหล่งผลิตระดับโลก ทำให้ชีสจากอิตาลีมีราคาที่สูงตามไปด้วย จนเป็นเหตุให้มีการทำชีสที่ปลอมแปลงแหล่งที่มา ว่ามีต้นกำเนิดจากอิตาลีด้วยเช่นกัน และไม่ว่าจะวางแนวทางแก้ไขเรื่องนี้อย่างไร ขบวนการเหล่านี้ก็ไม่เคยหมดสิ้น จนความพยายามล่าสุดได้ยกระดับเป็นการฝังชิป (Chip) เพื่อแยกแยะและระบุว่าชีสนี้มีที่มาจากอิตาลีจริง ๆ
ชิปติดชีสจำแนกชีสแท้จากอิตาลี
แนวคิดดังกล่าวเป็นของ ปาร์มีจาโน เรจจาโน คอนซอร์เทียม หรือพีอาร์ซี (Parmigiano Reggiano Consortium: PRC - หรือคำว่าพาเมซานในภาษาอังกฤษ) เป็นชื่อองค์กรสำคัญที่คนที่รักชีสอาจเคยได้ยิน องค์กรนี้มีหน้าที่ในการกำกับชีสจากอิตาลีแท้ แต่ว่าที่ผ่านมาก็มีการทำชีสไม่ได้คุณภาพลอกเลียนความเป็นชีสจากอิตาลีอยู่เสมอ จึงมีการเสนอให้ติดชิปเพื่อแยกแยะชีสจากอิตาลีกับที่อื่นขึ้นมา
ชิปดังกล่าวเป็นชิปขนาดจิ๋ว (Microchip) ที่สามารถกินได้ มีขนาดเท่าเม็ดทราย ผลิตโดยบริษัท พีชิป (P-chip) จากสหรัฐอเมริกา โดยจะมีการสร้างชุดตัวเลขที่ไม่ซ้ำกันขึ้นมาคล้ายกับเลขประจำตัวชีส จากนั้นใส่ค่าชุดตัวเลขฝังชิป แล้วนำชิปฝังลงบนฉลากตรวจสอบที่จำมาจากเคซีน (Caesin) ซึ่งก็เป็นผลิตภัณฑ์จากชีสเช่นกัน โดยฉลากจะแปะลงบนส่วนนอกสุดของก้อนชีส (Cheese Wheel) ที่มักจะไม่นำไปประกอบอาหารเพราะมีรสชาติเข้มเกินไป และใช้เครื่องอ่านชิปเฉพาะตลอดกระบวนการขนส่งเพื่อคอยป้องกันการนำชีสปลอมมาปะปน
ชิปคือความหวังพังขบวนการปลอมชีสอิตาลี
การฝังชิปจิ๋วนั้นเป็นความพยายามล่าสุดเพื่อต่อสู้กับขบวนการปลอมชีสที่สร้างความเสียหายให้ผู้ผลิตชีสในอิตาลีมากกว่าปีละ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 70,000 ล้านบาท เพราะพาเมซานชีสเป็นหนึ่งในสินค้าที่ได้รับการรับรองจากสหภาพยุโรป (EU) ว่าเป็นสินค้าที่บ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เฉพาะในอิตาลีเท่านั้น
การปลอมถิ่นกำเนิดของพาเมซานชีสเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 จนถึงปัจจุบัน อีกทั้งพาเมซานชีสยังต้องเผชิญการต่อสู้ทางการค้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดพีอาร์ซีได้หยุดยั้งความพยายามของ คราฟต์ ไฮนซ์ (Kraft Heinz) แบรนด์ผลิตภัณฑ์อาหารชื่อดังที่พยายามสร้าง “คราฟต์ พาเมซาน ชีส” เพื่อจดทะเบียนในประเทศเอกวาดอร์ในปี 2022 ที่ผ่านมา
ที่มาข้อมูล The Guardian, Interesting Engineering
ที่มารูปภาพ P-chip via PR News Wire
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67