TNN รัสเซียสานต่อภารกิจ Luna-25 หวนสำรวจดวงจันทร์ในรอบ 47 ปี

TNN

Tech

รัสเซียสานต่อภารกิจ Luna-25 หวนสำรวจดวงจันทร์ในรอบ 47 ปี

รัสเซียสานต่อภารกิจ Luna-25 หวนสำรวจดวงจันทร์ในรอบ 47 ปี

รัสเซียหวนคืนดวงจันทร์ ส่งภารกิจ Luna-25 สำรวจดวงจันทร์ สานต่อภารกิจ Luna-24 ในปี 1976

เมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา รัสเซียใช้จรวดโซยุส-2.1 บี (Soyuz-2.1b) ส่งยานสำรวจลูนา-25 (Luna-25) น้ำหนัก 1.6 ตัน เพื่อเดินทางไปลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ ซึ่งเป็นการสานต่อภารกิจลูนา-24 (Luna-24) ในปี 1976 ที่นำตัวอย่างพื้นผิวดวงจันทร์น้ำหนักประมาณ 170 กรัม กลับมายังโลกได้สำเร็จ

รัสเซียสานต่อภารกิจ Luna-25 หวนสำรวจดวงจันทร์ในรอบ 47 ปี

ยานสำรวจลูนา-25 (Luna-25) 

โดยยานสำรวจลูนา-25 จะใช้เวลาอีก 5 วัน ในการเดินทางไปยังดวงจันทร์ จากนั้นจะโคจรรอบดวงจันทร์เป็นเวลา 5 - 7 วัน ก่อนจะลงจอดบริเวณขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์ ใกล้กับปล่องภูเขาไฟโบกัสลอว์สกี้ (Boguslawsky Crater) ซึ่งมันจะทำหน้าที่สำรวจพื้นผิวดวงจันทร์เป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี


ยานสำรวจที่พัฒนาและผลิตภายในประเทศรัสเซียลำแรก 

สำหรับยานสำรวจลูนาเป็นยานที่พัฒนาในประเทศเองลำแรก โดยก่อนหน้านี้ประเทศรัสเซียได้ตกลงกับองค์การอวกาศยุโรป (ESA) เพื่อให้องค์การอวกาศยุโรปจัดหากล้องนำทางไพลอต-ดี (Pilot-D) ให้กับยานสำรวจลูนา-25 แต่เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างประเทศรัสเซียและยูเครน ส่งผลให้องค์การอวกาศยุโรปยกเลิกข้อตกลง รวมถึงโครงการความร่วมมือด้านอวกาศอื่น ๆ ด้วย


“การคว่ำบาตรรัสเซียโดยสหรัฐฯ, สหภาพยุโรปและประเทศอื่น ๆ จะไม่ขัดขวางรัสเซียจากการสำรวจอวกาศ แม้จะมีความยากลำบากและความพยายามที่จะแทรกแซงจากภายนอก เราจะดำเนินการตามแผนทั้งหมดของเราด้วยความสม่ำเสมอและต่อเนื่อง” - ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน (Vladimir Putin) ของประเทศรัสเซียกล่าว


โดยยานสำรวจลูนา-25 จะทดสอบเทคโนโลยีสำหรับการลงจอดบนดวงจันทร์ในอนาคต, วิเคราะห์สิ่งสกปรกและหินบนดวงจันทร์และดำเนินการวิจัยทางวิทยาศาสตร์อื่น ๆ เมื่อมันลงจอดสำเร็จ จะศึกษาชั้นบนของเรโกลิธบนดวงจันทร์, ประเมินชั้นบรรยากาศดวงจันทร์ที่บางเฉียบและค้นหาร่องรอยของน้ำแข็งในบริเวณขั้วโลกใต้


ข้อมูลจาก space.com

ภาพจาก NASA

ข่าวแนะนำ