นักบินอวกาศ NASA ทดลองควบคุมหุ่นยนต์บนโลกจากสถานีอวกาศ ISS
นักบินอวกาศของนาซา (NASA) ทดลองควบคุมหุ่นยนต์บนโลกจากสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) เพื่อทดสอบความสามารถในการใช้หุ่นยนต์ควบคุมระยะไกลสำหรับภารกิจสำรวจดวงจันทร์
นาซา (NASA) ร่วมมือกับองค์การอวกาศยุโรป (ESA) ทดสอบควบคุมหุ่นยนต์บนโลกจากโมดูลโคลัมบัสขององค์การอวกาศยุโรปบนสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) โดยได้ให้นักบินอวกาศแฟรงค์ รูบิโอ (Frank Rubio) เป็นผู้ควบคุมทีม โดยวัตถุประสงค์หลัก คือ ต้องการทดสอบความสามารถในการใช้หุ่นยนต์ควบคุมระยะไกล เพื่อนำไปใช้ในภารกิจสำรวจดวงจันทร์
การทดสอบควบคุมหุ่นยนต์ระยะไกลจากสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS)
หุ่นยนต์ขนาดเล็กที่ใช้ในการทดสอบ ตั้งอยู่ในสภาพแวดล้อมจำลองบนโลก ณ ศูนย์การบินและอวกาศเยอรมัน (German Aerospace Center) ในประเทศเยอรมนี ใช้เวลาทดสอบไปราว 2 ชั่วโมง ซึ่งหุ่นยนต์ที่ถูกนำมาใช้ในการทดสอบ ได้แก่ หุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์จัสติน (Justin) และรถโรเวอร์ 4 ล้อ โดยแฟรงค์ รูบิโอได้ควบคุมให้รถโรเวอร์นำหมุดเหน็บออกจากยานลงจอดและควบคุมให้หุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์จัสตินวางเครื่องวัดแผ่นดินไหวบนพื้นของสภาพแวดล้อมดวงจันทร์จำลอง ซึ่งผลการทดสอบลุล่วงตามที่ทีมเจ้าหน้าที่ของนาซาและองค์การอวกาศยุโรปคาดหวัง
อนาคตของการควบคุมหุ่นยนต์บนพื้นผิวดวงจันทร์จากเกตเวย์ (Gateway)
การควบคุมหุ่นยนต์จากระยะไกลแบบนี้จะกลายเป็นสถานการณ์จริงในอนาคต เพราะภายในปี 2025 นาซาจะส่งนักบินอวกาศกลับไปลงจอดบนดวงจันทร์ภายใต้ภารกิจอาร์เทมิส 3 (Artemis 3) ซึ่งจะเป็นการลงจอดบนดวงจันทร์ครั้งแรกของมนุษยชาติ นับตั้งแต่สิ้นสุดภารกิจอะพอลโล 17 (Apollo 17) ในปี 1972 โดยในภารกิจอาร์เทมิส 3 จะมีการส่งโมดูล 2 โมดูล ไปเชื่อมต่อและโคจรอยู่รอบดวงจันทร์ เรียกว่า ลูนาร์ เกตเวย์ (Lunar Gateway) ซึ่งจะทำหน้าที่คล้ายกับสถานีอวกาศนานาชาติที่โคจรอยู่รอบโลก นั่นก็คือการเป็นที่อยู่อาศัยของนักบินอวกาศและสถานที่สำหรับปฏิบัติภารกิจทางวิทยาศาสตร์ โดยในบางภารกิจ นักบินอวกาศที่ถูกส่งไปประจำการที่ลูนาร์ เกตเวย์จะต้องทำงานร่วมกับหุ่นยนต์สำรวจที่อยู่บนพื้นผิวดวงจันทร์ ด้วยการควบคุมจากระยะไกล
ข้อมูลและภาพจาก ESA
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67