หุ่นยนต์น้องหมาเพื่อนรู้ใจสี่ขา เป็นทั้งเพื่อนวิ่ง เพื่อนคุยในเวลาเดียวกัน
บริษัทหุ่นยนต์จากจีน เผยโฉมนวัตกรรมใหม่ หุ่นยนต์สุนัขคู่หู ที่ทั้งคุยก็ได้ เต้นกายกรรมก็ดี เป็นเพื่อนพาไปวิ่งคลายเหงา
ในยุคดิจิทัลแบบนี้ หุ่นยนต์เข้ามามีบทบาทอย่างมากในชีวิตประจำของมนุษย์ ซึ่งถ้าตอนนี้ ใครสนใจอยากมีสุนัขหุ่นยนต์เป็นเพื่อนคู่หู มีทางเลือกใหม่แล้ว เพราะบริษัท ยูนิทรี (Unitree) ในจีนได้เปิดพรีออเดอร์หุ่นยนต์สุนัข โกทู (Go2) ซึ่งทำได้ทั้งเป็นเพื่อนพูดคุย หรือแม้แต่เล่นกายกรรมให้ดูก็สามารถทำได้
โดยเจ้าหุ่นยนต์โกทูมีน้ำหนักประมาณ 15 กิโลกรัม สูง 40 เซนติเมตร ความยาว 70 เซนติเมตร ตัวโครงหุ่นยนต์ทำมาจากอะลูมิเนียมผสมกับพลาสติกที่มีความแข็งแรงสูง ทั้งนี้ โกทูยังมีระบบเซนเซอร์วัดระยะไลดาร์ (LiDAR-Light Detection and Ranging) แบบกว้างพิเศษ รวมถึงกล้องความชัดระดับ HD สร้างแผนที่และนำทางในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ แบบเรียลไทม์ ตัวหุ่นจึงช่วยในการเดินเคียงข้าง ติดตามมนุษย์โดยหลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวางและปรับตัวเข้ากับภูมิประเทศ
ส่วนฝีมือการทรงตัวในระดับเทียบเท่านักกีฬายิมนาสติกนั้น ต้องยกความเก่งให้กับมอเตอร์ในตัวหุ่นที่ทรงพลังกว่ารุ่นก่อนหน้าถึง 30% ทำให้โกทูสามารถกระโดด พลิกตัวไปมา เต้นบน 2 ขา และอวดท่ากายกรรมต่าง ๆ เช่น ยืนบนสองขาหน้าพร้อมกับเดินลงบันไดได้ โดยการชาร์จหนึ่งครั้งจะใช้งานได้ถึง 2 ชั่วโมง
สำหรับจุดขายของตัวหุ่นคือความสามารถการวิ่งเหยาะ ๆ โดยหุ่นยนต์โกทูรุ่นพื้นฐานราคา 1,600 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 54,500 บาท สามารถวิ่งด้วยความเร็ว 9 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และรุ่น Pro ราคา 2,800 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 95,000 บาท ที่วิ่งได้เร็วถึง 12.6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ดังนั้นมันจึงสามารถไปวิ่งจ็อกกิ้งเป็นเพื่อนผู้ใช้งานได้
ทั้งนี้ หุ่นยนต์โกทูรุ่น Pro ยังมีการติดตั้งระบบเสียงกับชุดคำสั่ง จีพีที (GPT) หรือโมเดลภาษาที่ใช้เทคโนโลยีการเรียนรู้เชิงลึก (Machine Learning) เพื่อสร้างข้อความที่คล้ายกับมนุษย์ ยิ่งกว่านั้น โกทูยังสามารถตอบสนองเสียงสนทนาของผู้ใช้ ตีความหมาย รวมถึงพยายามทำความเข้าใจบทสนทนาที่เกิดขึ้นอีกด้วย จึงนับว่าโกทูมีความสามารถล้นเหลือ ทั้งคุยแก้เหงาได้ หรือจะพาไปวิ่งด้วย ให้เต้นให้ดูก็ไม่ธรรมดา จึงนับว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สนใจสำหรับใครที่ต้องการคู่หูรู้ใจสี่ขามาช่วยคลายความเหงา
ที่มาของข้อมูล newatlas
ที่มาของรูปภาพ Go2
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67