จีนใช้ AI ช่วยหมอผ่าตัดสมอง ! เคลมแม่นยำปลอดภัยกว่าที่เคย
ศูนย์วิจัยด้านหุ่นยนต์และเอไอจากฮ่องกง พัฒนาหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดสมองที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดความเสี่ยงในการผ่าตัด
นักวิจัยจากศูนย์วิจัยเพื่อหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ (Centre for Artificial Intelligence and Robotics: CAIR) ในฮ่องกง ได้พัฒนาหุ่นยนต์ที่มีชื่อว่าไมโครนูโร (MicroNeuro) เพื่อทำหน้าที่ช่วยศัลยแพทย์ผ่าตัดสมอง อวัยวะที่อ่อนไหวและอันตรายในการผ่าตัดมากที่สุด โดยมีปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ (AI) ทำหน้าที่เหมือนสมองของหุ่นยนต์ตัวนี้
MicroNeuro หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดสมองพลัง AI
ไมโครนูโร เป็นหุ่นยนต์ที่ผสานเทคโนโลยีสุดล้ำของหุ่นยนต์ อย่างเช่นระบบส่องกล้องแบบยืดหยุ่น ระบบการควบคุมแขนกล เข้ากับการทำงานของเอไอเพื่อประมวลผลและรับมือการผ่าตัดสมองด้วยการเป็นผู้ช่วยของศัลยแพทย์เพื่อทำลายข้อจำกัดทางกายภาพอย่างประสาทสัมผัสออกไป
ทางทีมนักวิจัยให้ข้อมูลว่า ไมโครนูโร รองรับการช่วยผ่าตัดเส้นเลือดหัวใจ (Ventricle Surgery) การผ่าตัดสมองหรือไขสันหลัง (Intracranial surgery) การผ่าตัดรักษาโรคปวดเส้นประสาทใบหน้า (Trigeminal neuralgia) หรือแม้แต่ภาวะเลือดออกในสมอง (Cerebral hemorrhage) ได้ ด้วยการควบคุมการส่องกล้องในท่าทางที่มนุษย์ทำไม่ได้ (Nonlinear surgical trajectory) และรายงานผลทันที
หลิว ฮงปิ๋น (Liu Hongbin) กรรมการบริหารศูนย์ฯ กล่าวว่า "การผ่าตัดสมองเป็นการผ่าตัดที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีมากที่สุด จากขั้นตอนผ่าตัดที่สุ่มเสี่ยงอย่างมาก" พร้อมยังกล่าวอีกว่า "ศัลยแพทย์ต่างต้องการใช้เอไอและนวัตกรรมเทคโนโลยีมาทำให้ความเสี่ยงระหว่างผ่าตัดลดลงกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน"
ศักยภาพของ MicroNeuro หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดสมองพลัง AI
การผ่าตัดสมองโดยปกติมักทำให้เกิดอาการช้ำต่อสมองส่วนอื่นจากการส่องกล้องโดยมนุษย์ที่มีองศาท่าทางการขยับกล้องที่จำกัด แต่ถ้าใช้ไมโครนูโร ทางทีมวิจัยพบว่าจะช่วยลดอาการเนื้อเยื่อสมองเสียหายได้ถึงครึ่งหนึ่ง หลังทดลองการผ่าตัดโดยมีหุ่นยนต์ตัวนี้ช่วยในโรงพยาบาลปรินซ์ ออฟ เวลส์ (Prince of Wales Hospital) ในฮ่องกง
ในอนาคต ทีมวิจัยจะยกระดับไมโครนูโรให้ทำงานด้วยเอไอเต็มรูปแบบ ที่รวมไปถึงการรับข้อมูลผ่านเซนเซอร์ต่าง ๆ เพื่อยกระดับการผ่าตัดสมองไปสู่ยุคของหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ โดยมีสถาบันวิทยาศาสตร์จีน (Chinese Academy of Sciences: CAS) และกองทุนนวัตกรรมฮ่องกง (InnoHK initiative) ให้การสนับสนุนในปัจจุบัน
ที่มาข้อมูล Interesting Engineering
ที่มารูปภาพ Unsplash
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67