ดัน Soft Power ไทยผ่าน Extended Reality เทคเสมือนจริง | TNN Tech Reports
AR, VR และ MR เมื่อไรที่ทั้งหมดนี้ถูกผสานเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างประสบการณ์ที่เสมือนจริงยิ่งขึ้น เราจะให้นิยามใหม่ว่า “Extended Reality” หรือ XR
การเกิดขึ้นของโลกเสมือนจริง หรือ Metaverse รวมถึงอินเตอร์เน็ตยุคใหม่อย่าง Web3 ทำให้เราคุ้นหูกับคำว่า AR, VR และ MR มากขึ้น ซึ่งการผสานเทคโนโลยีเหล่านี้เข้าด้วยกัน จะให้นิยามใหม่ว่า “Extended Reality” หรือ XR ที่แปลว่า เทคโนโลยีความจริงขยาย
AR, VR, และ MR คืออะไร ?
AR หรือ Augmented Reality เป็นผสานโลกจริงและโลกเสมือนไว้ด้วยกัน โดยจะเป็นการสร้างวัตถุจำลอง 3 มิติ ขึ้นมาบนสภาพแวดล้อมจริงบนโลก ซึ่งต้องใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น แว่นตา หรือสมาร์ตโฟน ถึงจะเห็นภาพกราฟิก 3 มิติแสดงผลขึ้นมาตรงหน้า ยกตัวอย่างเช่น เกมโปเกมอน โก ที่ดังไปทั่วโลก
VR หรือ Virtual Reality คือ เทคโนโลยีเสมือนจริงที่ใช้คอมพิวเตอร์จำลองสภาพแวดล้อมเสมือนขึ้นมา โดยเราสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับโลกเสมือนนั้นได้ ด้วยการกดตอบโต้ผ่านอุปกรณ์ต่าง ๆ ซึ่งเราคุ้นเคยเทคโนโลยีนี้เป็นอย่างดีผ่านเกมต่าง ๆ รวมถึงการใช้ VRในการจำลองสถานการณ์เพื่อฝึกฝนและเตรียมความพร้อมให้กับพนักงานขององค์กร ก่อนปฏิบัติงานจริง ซึ่งช่วยประหยัดทั้งเงิน เวลา ทรัพยากร และลดความเสี่ยงจากอันตรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
MR หรือ Mixed Reality คือ การผสานจุดเด่นของ VR และ AR เข้าด้วยกัน / ด้วยการสร้างภาพจำลองในสภาพแวดล้อม ที่ผสานทั้งโลกจริงและโลกเสมือนเป็นหนึ่งเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น การแสดงผลของภาพโฮโลแกรม ที่เราสามารถมีปฏิสัมพันธ์ตอบโต้ได้ ซึ่งทุกวันนี้เราจะเห็น MR ถูกนำไปใช้สร้างสรรค์มนุษย์เสมือนจริงหรือ Virtual Human ไปจนถึงอวตาร ซึ่งเหมาะกับวงการภาพยนตร์และการผลิตโฆษณา
เทคโนโลยี XR ในประเทศไทย
ในประเทศไทยเอง มีหลายธุรกิจที่กระโดดเข้ามาสู่โลกเทคโนโลยีเสมือนในรูปแบบต่าง ๆ ไปจนถึง XR เพื่อช่วยให้แบรนด์เข้าถึงลูกค้าใหม่และเพิ่มปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า หนึ่งในนั้นคือ เดย์เดฟ ผู้ผลิตและให้บริการแอนิเมชันและเทคนิคพิเศษ ได้สอดแทรกวัฒนธรรมไทยผ่านเกมต่าง ๆ ถือเป็น Soft Power ที่ทำให้ต่างชาติเรียนรู้และเข้าใจความเป็นไทยมากขึ้น
นอกจากผลักดัน Soft Power ไทยผ่านเกมต่าง ๆ แล้ว ทางเดย์เดฟยังได้ผลิตงานให้กับองค์กรรัฐและเอกชนอีกมากมาย หนึ่งในนั้นคือ 2 โครงการที่ร่วมมือกับกรมศิลปากร ได้แก่
- AR Smart Heritage - การเอาภาพสันนิษฐานของอุทยานประวัติศาสตร์ต่าง ๆ ในประเทศไทย มาขึ้นแบบภาพ 3 มิติ เมื่อนักท่องเที่ยวใช้สมาร์ตโฟนส่องสถานที่จริง ก็จะปรากฏเป็นภาพอุทยานประวัติศาสตร์ก่อนได้รับความเสียหายขึ้นมาในหน้าจอ
- VR Unseen Heritage - จะเล่นผ่านแว่นตา VR เชื่อมต่อกับเว็บไซต์หรือคอมพิวเตอร์ทั่วไป ซึ่งจะปรากฏเป็นภาพจิตรกรรมต่าง ๆ โดยไม่ต้องไปสถานที่จริง ซึ่งทั้งหมดนี้ จะช่วยยกระดับคุณภาพการท่องเที่ยวในไทย ที่เดินหน้าไปพร้อมกับการรักษามรดกทางวัฒนธรรมผ่านเทคโนโลยีเสมือนจริง
นอกจากความท้าทายที่ผู้พัฒนาต้องเผชิญแล้ว ในฝั่งผู้ใช้งานก็มีข้อจำกัดด้วยเช่นกัน เช่น ค่าใช้จ่ายสูงทั้งในแง่อุปกรณ์และการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง และความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยีที่ยังไม่มากพอในคนทั่วไป แต่เชื่อว่าในอนาคตอันใกล้ ข้อจำกัดเหล่านี้ก็จะลดลงเรื่อย ๆ
เทรนด์ธุรกิจ XR ของไทยและเทศ
แนวโน้มการใช้งาน XR ทั่วโลก ปัจจุบันกำลังเติบโตอย่างมาก โดยมูลค่าของตลาด XR โดยงานวิจัยของกลุ่ม IMARC ซึ่งเป็นผู้นำทางด้านการวิจัยทางการตลาดระดับโลกระบุว่า ในปี 2565 ตลาด XR ทั่วโลกมีมูลค่ากว่า 64,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2.24 ล้านล้านบาท และมีอัตราการเติบโตในช่วงปี 2566 - 2571 พุ่งขึ้นไปถึงร้อยละ 43.5
ที่สำคัญ การระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมายิ่งทำให้คนหันสนใจในการสร้างประสบการณ์เสมือนจริงมากยิ่งขึ้น สำรวจพบว่า กว่าร้อยละ 80 ของผู้บริหารในยุคนี้มองว่า XR มีส่วนสำคัญในการเชื่อมสัมพันธ์ของพนักงานออฟฟิศให้เข้าใกล้กันมากขึ้น ส่วนทิศทางของ XR ในประเทศไทยอยู่ระหว่างเริ่มเติบโตมีคู่แข่งน้อยสอดคล้องกับตลาดของผู้ใช้งานที่อาจจะยังไม่มากเมื่อเทียบกับทั่วโลก
สำหรับใครที่ต้องการชิ้นงานหรือบุคลากรที่สามารถผลิต XR ได้ อาจมีคำถามเรื่องราคา ซึ่งราคาจะสูงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความสมจริงของชิ้นงาน รวมถึงความละเอียดของแต่ละขั้นตอน ตั้งแต่ค่าถ่ายภาพและขึ้นโมเดล 3 มิติ, การพัฒนาโมเดล และการทำคอนเทนต์ โดยเฉลี่ยค่าจ้างผลิต AR เริ่มต้นที่หลักหมื่นและ VR เริ่มต้นที่หลักแสน โดยสิ่งที่ทำให้ราคาแตกต่างกันมากที่สุด คือ การใส่ลูกเล่นและการทำคอนเทนท์แบบ storytelling หรือการเล่าเรื่องแบบดึงประสบการณ์ของผู้เขียนมาเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหา
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67