TNN เจาะเบื้องหลัง “VAVA” ศิลปินเสมือนมนุษย์ สร้างจาก AI คนแรกของไทย | TNN Tech Reports

TNN

Tech

เจาะเบื้องหลัง “VAVA” ศิลปินเสมือนมนุษย์ สร้างจาก AI คนแรกของไทย | TNN Tech Reports

เจาะเบื้องหลัง “VAVA” ศิลปินเสมือนมนุษย์ สร้างจาก AI คนแรกของไทย  | TNN Tech Reports

"VAVA" คือ ศิลปินเสมือนมนุษย์ หรือ Virtual Artist คนแรก ๆ ในประเทศไทย ซึ่งเกิดจากความร่วมมือกันของบริษัท ด้านเทคโนโลยีการถ่ายภาพ Pro-Toys และผู้เชี่ยวชาญด้านการทำคอนเทนต์ออนไลน์ T-Town Digital Studio



ปัจจุบัน ปฎิเสธไม่ได้ว่า AI หรือปัญญาประดิษฐ์ถูกพัฒนาและนำไปใช้ประโยชน์ในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านใกล้ตัวเราอย่างสุขภาพ และวงการแพทย์ ที่มีการใช้เอไอช่วยแพทย์วินิจฉัยภาวะผิดปกติของอวัยวะและค้นหาความเสี่ยงของการเกิดโรค ด้านการดูแลสิ่งแวดล้อม อย่างแพลตฟอร์มวรุณา ที่ Tech Reports Weekly เคยนำเสนอไปก่อนหน้านี้ ที่ได้นำ AI มาใช้ในการดูแลพื้นที่ป่าไม้ ตรวจสสอบและติดตามการเจริญเติบโตของต้นไม้ในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า หรืออย่างในแวดวงอุตสาหกรรมการผลิต ที่ได้นำ Machine Learning หนึ่งใน AI มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตภายในโรงงาน


ไม่เพียงแค่นั้น ความชาญฉลาดของ AI ยังมีการใช้ครอบคลุมไปถึงแวดวงอุตสาหกรรมบันเทิงและโฆษณาตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ การสร้าง AI Influencer หรือเรียกอีกอย่างว่า Virtual Influencer คนดังเสมือนจริง ที่เรามักเห็นผ่านการโพสต์ภาพนิ่งในโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เพื่อเรียกความสนใจจากผู้ติดตามหรือ Follower ซึ่งมีข้อดีคือผู้สร้างสามารถออกแบบและปรับเปลี่ยนหน้าตา บุคลิก อาชีพ อายุ นิสัย ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของคนดังเสมือนจริงได้ตามต้องการตลอดเวลา 


และจนถึงตอนนี้ หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่า ประเทศไทยเราไม่ได้มีเพียงแค่ Virtual Influencer คนดังที่เห็นผ่านการโพสต์ภาพนิ่งเท่านั้น แต่ยังพัฒนาไปถึงการสร้าง Virtual Artist ศิลปินเสมือนจริง ที่มีความสามารถทั้งร้องเพลง และการเต้น ควบคู่ไปกับภาพลักษณ์ที่ดูน่ารัก สดใส และขี้เล่น


Virtual Artist คนแรกของประเทศไทย


"วาวา" คือ ศิลปินเสมือนมนุษย์ หรือ Virtual Artist คนแรก ๆ ในประเทศไทย ซึ่งเกิดจากความร่วมมือกันของบริษัท ด้านเทคโนโลยีการถ่ายภาพ  Pro-Toys และผู้เชี่ยวชาญด้านการทำคอนเทนต์ออนไลน์ T-Town Digital Studio โดยมีแนวคิดจากการเกิดขึ้นของตัวละครซูเปอร์ฮีโร่ชื่อดังในต่างประเทศ เช่น Batman Superman และ Wonder woman ที่มีพัฒนาการอยู่ในหลายรูปแบบ ตั้งแต่เป็นตัวการ์ตูนในหนังสือ ภาพเคลื่อนไหวหรือ แอนิเมชัน ไปจนถึงในรูปแบบของซีรีส์และภาพยนตร์  ซึ่งวาวาใช้แนวคิดการสร้างเช่นเดียวกันคือไม่ตายตัว เป็นได้ทั้ง Influencer ผ่านภาพนิ่ง หรือ จะเป็นนักร้อง นักแสดง ผ่านภาพเคลื่อนไหวก็ได้เช่นกัน  


โดย "วาวา" เกิดจากการทำงานแบบ Hybrid คือการผสมผสานการทำงานร่วมกัน ระหว่างคนจริง ๆ ที่จะถูกนำมาเป็นต้นแบบ บวกกับเทคโนโลยีการสร้าง Persona หรือ แบบจำลองหน้าตาบุคคลให้โดดเด่น ไปจนถึงการสร้างบุคลิกหรือคาร์แร็กเตอร์ และเรื่องราวผ่านโซเชียลมีเดียเพื่อให้เกิดความน่าสนใจ โดย "วาวา" ถูกพัฒนาภาพลักษณ์ให้ออกมาเป็นหญิงสาวหน้าตาแถบเอเชีย ที่ดูขี้เล่น สดใส ในวัย 21 ปี    


วิธีการสร้าง "วาวา"


เบื้องหลังการสร้างวาวาใช้การทำงานร่วมกันหลายส่วน ส่วนแรก การทำเพลง จะคล้ายกับกระบวนการทำเพลงดั้งเดิม คือ มีคนแต่งเพลง และใช้เสียงร้องของบุคคลต้นแบบ ส่วนที่สองคือ การทำคอนเทนต์ภาพหรือคลิป ส่วนนี้จะมีการเลือกใช้เทคโนโลยีอยู่ 3 ส่วนคือ


1. AI Deepfake โปรแกรมที่ใช้ในการสร้างแบบจำลองหน้าตา ซึ่งแตกต่างจากที่ใช้กันในแอปพลิเคชันทั่วไป เนื่องจากเป็นการถ่ายทำที่มีคุณภาพสูงในระดับเดียวกับภาพยนตร์ฮอลลีวูด 

2. ระบบสแกนถ่ายภาพแบบสามมิติ หรือ Photogrammetry คือ กระบวนการเปลี่ยนภาพ 2 มิติ จากกล้องถ่ายรูปจำนวนมากกว่า 100 ตัว ให้เป็นโมเดล 3 มิติ ผ่านการประมวลผลของ AI

3. Motion capture หรือ เทคนิคการสร้างตัวละครแอนิเมชันให้สมจริง โดยการใช้คนต้นแบบมาใส่ ชุด Body Suit ที่ติดตั้งเซนเซอร์ไว้ที่ตัว เพื่อตรวจจับการเคลื่อนไหว


ความเฉพาะตัวของ "วาวา"


ถึงแม้ว่า "วาวา" จะมีความสามารถที่หลากหลาย ทั้งการโพสต์ท่าถ่ายภาพ การร้องเพลง การเต้น จนมีมิวสิกวิดีโอเพลงเป็นของตัวเอง หรือสามารถออกอีเวนต์และคอนเสิร์ตได้ แต่ข้อจำกัดก็คือ ความสามารถทั้งหมดของวาวา จะต้องปรากฎผ่านหน้าจอ และโซเชียลมีเดียเพียงช่องทางเดียวเท่านั้น ไม่สามารถมีตัวตนออกมาทำความรู้จัก จับมือกับแฟนเพลงได้แบบตัวต่อตัว เหมือนนักร้องที่เป็นคนจริง ๆ 


แต่อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าทางทีมผู้พัฒนาเองจะไม่ได้มองว่าข้อกำจัดเหล่านี้เป็นจุดด้อย แต่นำการมีตัวตนอยู่แค่บนโลกออนไลน์ของ วาวา ที่อายุไม่เพิ่มขึ้น หน้าตาผิวพรรณไม่เปลี่ยนแปลง มาเป็นข้อได้เปรียบในการทำคอนเทนต์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเพลง หรือโฆษณาที่มีความเฉพาะตัว  


ในอนาคต "วาวา" จะได้รับการพัฒนาให้อยู่ในรูปแบบตัวละครสามมิติ ที่ใช้คนต้นแบบเพียงเพื่อการเคลื่อนไหว ซึ่งหลายคนอาจจะเคยเห็นในภาพยนตร์ชื่อดังเรื่อง อวตาร์ โดยวางเป้าหมายเพื่อให้เข้าไปอยู่ในโลกเสมือนจริง Metaverse ที่สามารถจับมือทักทายแฟนเพลงได้ ผ่านอุปกรณ์ VR  

ข่าวฮิตติดแท็ก

ข่าวแนะนำ