หุ่นยนต์น้องหมา Spot ช่วยรื้อถอนนิวเคลียร์
หุ่นยนต์น้องหมา ‘สปอต’ อาจช่วยทำความสะอาดและรื้อถอนโรงปฏิกรณ์นิวเคลียร์ดูนเรย์ (Dounreay) ในประเทศสกอตแลนด์ได้
สหราชอาณาจักรเตรียมนำ หุ่นยนต์อัจฉริยะสี่ขารูปร่างคล้ายสุนัข “สปอต” (Spot) มาช่วยทำความสะอาดและรื้อถอนชิ้นส่วนโรงปฏิกรณ์นิวเคลียร์ดูนเรย์ (Dounreay) ในประเทศสกอตแลนด์ โดยทางการระบุว่าหุ่นยนต์สุนัขจะช่วยให้ทีมทำงานได้ง่ายและปลอดภัยขึ้น
หุ่นยนต์น้องหมาทำอะไรได้บ้าง ?
เจ้าหุ่นยนต์สุนัข "สปอต" นั้นเป็นผลงานจากบอสตันไดนามิกส์ (Boston Dynamics) บริษัทออกแบบด้านวิศวกรรมและหุ่นยนต์จากสหรัฐอเมริกา ตัวหุ่นยนต์มีรูปร่างเรียวยาวมาพร้อมกับขา 4 ขา ดูคล้ายกับสุนัข มีความยาว 110 เซนติเมตร กว้าง 50 เซนติเมตร หนักประมาณ 32 กิโลกรัม ทำให้เข้าถึงพื้นที่ได้หลากหลาย นอกจากนี้ สปอตมาพร้อมกับ "ตา" หรือกล้องถึง 5 ตัว ช่วยจับภาพได้ 360 องศา และปรับแต่งติดตั้งอุปกรณ์เสริมได้ตามต้องการ เช่น กล้องอินฟราเรดจับความร้อน และแท็บเล็ตควบคุมเสริม
โดยสปอตปกติจะทำงานด้วยระบบอัตโนมัติ เคลื่อนที่ด้วยสี่ขาเป็นหลัก สามารถเดินหลบสิ่งกีดขวาง แถมยืดตัวเดินสองขาได้คล้ายกับสุนัขทั่วไป (แค่กระดิกหางไม่ได้) และพิเศษกว่าตรงที่สามารถปีนบันได เปิดประตู ยกสิ่งของ ถ่ายรูป และเข้าถึงพื้นที่เสี่ยงอันตรายแทนมนุษย์ได้ โดยที่ผ่านมาหลาย ๆ หน่วยงานนำสปอตมาใช้งานหลากหลายประเภท ตั้งแต่ยามลาดตระเวน เดินเก็บข้อมูลตามโบราณสถาน ไปจนถึงช่วยทีมแพทย์ดูแลผู้ป่วย
ทำไมต้องใช้หุ่นยนต์สุนัขแทนมนุษย์ ?
โรงปฏิกรณ์นิวเคลียร์ดูนเรย์ (Dounreay) ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทางเหนือของเขตเคธเนส (Caithness) ที่ราบสูงประเทศสกอตแลนด์ แต่เดิม ดูนเรย์ประกอบไปด้วยโรงปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดใหญ่สองแห่ง ใช้พัฒนาเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เร็ว (Fast reactor) ใช้ทางพลเรือน และทดลองเครื่องปฏิกรณ์สำหรับเรือดำน้ำทางทหาร แต่ในปัจจุบันไม่ได้ใช้งานพื้นที่แล้ว และอยู่ในขั้นตอนการทำความสะอาดและรื้อถอนโครงการ
โดยที่ผ่านมา มีรายงานว่าวัสดุกัมมันตรังสีปริมาณหนึ่งรั่วไหลออกมาเมื่อปี ค.ศ. 2022 แม้ว่าทางการระบุว่ารังสีที่รั่วไหลออกมา “เป็นอันตรายน้อยมาก” แต่ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า ถ้ากัมมันตรังสีสะสมในร่างกายเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดความผิดปกติในระดับโครโมโซมหรือเป็นมะเร็งได้
ด้วยเหตุนี้ ทางการจึงตัดสินใจนำหุ่นยนต์สุนัขมาทดสอบให้เดินสำรวจ และเก็บข้อมูลในบริเวณที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ก่อน ถ้าผลการทดสอบออกเป็นที่น่าพอใจ เราจะได้เห็นหุ่นยนต์น้องหมาสีเหลืองสดใสลงพื้นที่ทำงานช่วยเพื่อนมนุษย์กันมากขึ้น ซึ่งหนึ่งในแผนที่วางไว้คือ สปอตจะใช้เลเซอร์สแกน 3 มิติ สำรวจบริเวณภายนอกดูนเรย์ก่อนว่ามีอันตรายตรงไหนบ้าง
ใช้หุ่นยนต์ควบคุมระยะไกลเสริมด้วย
นอกจากการใช้หุ่นยนต์สุนัขสำรวจพื้นที่แล้ว หน่วยงานรื้อถอนนิวเคลียร์ (The Nuclear Decommissioning Authority: NDA) ยังอบรมวิธีใช้งานยานพาหนะควบคุมจากระยะไกล หรือ ROV (Remote Operated Vehicles)ให้กับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด้วยเช่นกัน
“เราเชื่อว่าการใช้หุ่นยนต์เป็นวิธีช่วยให้เจ้าหน้าที่ลดการสัมผัสกับกัมมันตรังสี หุ่นยนต์พวกนี้จะไม่มาแทนที่แรงงานมนุษย์ แต่ช่วยให้เราทำงานได้ง่ายและปลอดภัยขึ้น” เฮเธอร์ แฟร์เวเธอร์ (Heather Fairweather) ผู้ดูแลโครงการรื้อถอน กล่าว
โดยก่อนหน้านี้ เคยมีการใช้หุ่นยนต์ที่ดูนเรย์มาก่อน แต่ใช้งานเพื่อรื้อถอนชิ้นส่วนเครื่องปฏิกรณ์เป็นหลัก ในขณะนี้ โรงปฏิกรณ์นิวเคลียร์ดูนเรย์ยังอยู่ในขั้นตอนรื้อถอนชิ้นส่วนและทำความสะอาด กำจัดขจัดสิ่งปนเปื้อน ซึ่งหน่วยงานรื้อถอนนิวเคลียร์กล่าวว่าหุ่นยนต์จะช่วยให้ขั้นตอนการรื้อถอนเสร็จเร็วขึ้น แต่ยังต้องใช้เวลาอีกเกือบ 200 ปี หรือราวปีค.ศ. 2333 พื้นที่ในดูนเรย์ถึงจะกลับมาปลอดภัย และกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67