นวัตกรรมรักษ์โลกจากขยะแปรรูป | TNN Tech Reports
ปัจจุบันเราได้เห็นการคิดค้น พัฒนาการแปรรูปขยะพลาสติก หรือขยะอื่น ๆ ให้กลายมาเป็นนวัตกรรมรักษ์โลกเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง เช่นตัวอย่างที่นำมาฝากกันในช่วงนี้
การดูแลสิ่งแวดล้อม ถือเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายให้ความสนใจ เนื่องจากปัญหาภาวะโลกร้อนที่ส่งผลกระทบถึงสภาพอากาศและความเป็นอยู่ของผู้คน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ปัญหาขยะพลาสติกที่ต้องใช้เวลาย่อยสลายนานหลายร้อยปี ปัจจุบันเราจึงได้เห็นการคิดค้น พัฒนาการแปรรูปขยะพลาสติก หรือขยะอื่น ๆ ให้กลายมาเป็นนวัตกรรมรักษ์โลกเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง เช่นตัวอย่างที่นำมาฝากกันในช่วงนี้
Eggshell Project
ขยะใกล้ตัวที่เชื่อว่ามีกันแทบจะทุกบ้าน ก็คือ เปลือกไข่ ที่ถูกคิดค้นแปรรูปให้กลายเป็นก้อนอิฐก่อสร้างที่อยู่อาศัย โดย แมนูแฟคทูรา (Manufactura) บริษัทด้านการออกแบบจากประเทศเม็กซิโก ผ่านโครงการที่มีชื่อว่าเปลือกไข่ (Eggshell Project)
โดยวิธีการคือ นำเปลือกไข่มาทำความสะอาดและบดจนละเอียด จากนั้นก็ผสมเปลือกไข่เข้ากับสารยึดเกาะทางชีวภาพที่เป็นส่วนผสมพิเศษของบริษัท จนออกมาเป็นวัสดุเฉพาะพร้อมนำไปใช้ขึ้นรูปได้ ต่อมาทีมงานจะใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ พิมพ์วัสดุที่ได้จากเปลือกไข่ให้กลายเป็นรูปอิฐ โดยวัสดุนี้มีคุณสมบัติพิเศษคือ แข็งตัวได้โดยไม่ต้องเผา ซึ่งจะช่วยลดการผลิตก๊าซคาร์บอนจากขั้นตอนการสร้างอิฐปกติ ที่ต้องใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นจำนวนมากเพื่อเผาให้อิฐแข็งตัว
ทีมผู้สร้างยังเคลมว่า อิฐจากเปลือกไข่นี้สามารถนำมาสร้างเป็นผนังอาคารหรือเสาได้ และข้อดีของเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ทำให้สามารถผลิตอิฐได้อย่างต่อเนื่อง นำไปใช้ผลิตวัสดุก่อสร้างได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น
TileGreen
คืออิฐที่รีไซเคิลมาจากขยะถุงพลาสติก เป็นฝีมือของ บริษัท ไทล์กรีน (TileGreen) ในประเทศอียิปต์ บริษัทระบุว่า อิฐรีไซเคิลนี้มีความแข็งแกร่งกว่าคอนกรีตถึง 2 เท่า เลยทีเดียว โดยแต่ละก้อนจะทำมาจากถุงพลาสติกรีไซเคิลถึง 125 ถุง!
สำหรับกระบวนการผลิตจะทำที่โรงงานย่านชานเมืองกรุงไคโร เริ่มจากการนำถุงขยะพลาสติกไปย่อยเป็นชิ้นเล็ก ๆ พร้อมหลอมและรีดออกมาเป็นแผ่น แล้วนำมาขึ้นรูปในแม่พิมพ์ ซึ่งใช้การบีบอัดด้วยแรงดันสูงและการให้ความร้อนเพื่อเพิ่มความแข็ง ผลลัพธ์ที่ได้จะมีลักษณะเป็นก้อนอิฐผิวหยาบ เหมาะสำหรับการใช้ปูพื้นภายนอกอาคาร เช่น พื้นฟุตบาต หรือพื้นลานกิจกรรม
ปัจจุบันทางบริษัทได้ส่งจำหน่ายให้กับบริษัทด้านอสังหาริมทรัพย์ และบริษัทรับเหมาเพื่อใช้ปูพื้นภายนอกอาคาร
MUM
โครงการแปรรูปขยะพลาสติกจากการประมง ให้กลายเป็นเฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์ตกปลา ในโครงการ ที่ชื่อว่า MUM ผลงานจากสตาร์ตอัปในประเทศญี่ปุ่น โดยจะนำขยะ เช่น อวน ทุ่น และเชือก มาผ่านกระบวนการอัปไซเคิล (Upcycle) หรือการนำวัสดุที่ไม่ได้ใช้แล้วมาผลิตใหม่ ให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพมากกว่าเดิม
สำหรับกระบวนการเริ่มจากการใช้เครื่องจักรบดเศษขยะพลาสติกให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ และนำไปขึ้นรูป โดยผลงานเด่นที่ได้คือ โต๊ะอาหารแบบญี่ปุ่นขนาดยาว ที่ชาวประมงสามารถใช้เพื่อรับประทานอาหารได้
ซึ่งลักษณะเด่นของเฟอร์นิเจอร์อยู่ที่พื้นผิวการออกแบบที่มีความหมาย เช่น ความขรุขระ สื่อถึงคลื่นที่ไหลอย่างสงบบนท้องทะเล ส่วนสีเข้มที่ได้จากการหลอมรวมกันของอุปกรณ์ตกปลาที่ถูกทิ้งสื่อถึงสาหร่ายทะเล ให้ความรู้สึกว่าเฟอร์นิเจอร์ชิ้นนี้เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของชาวประมงจริง ๆ
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67