เครื่องพิมพ์ 3 มิติ สร้างอาคารใหญ่สุดในยุโรปที่เยอรมนี
เครื่องพิมพ์ 3 มิติ ก่อสร้างอาคารทั้งหลังให้เป็นอาคารศูนย์ข้อมูลและโรงแรมจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ แห่งแรกในเยอรมนีที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป
ข้อมูลทั่วไปของอาคารจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป
เครื่องพิมพ์ 3 มิติ กลายเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีการก่อสร้างอาคารจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ใหญ่ที่สุดในทวีปยุโรปเพื่อเป็นศูนย์ข้อมูลและโรงแรมบนพื้นที่กว่า 600 ตารางเมตร ที่เมืองไฮเซนเบิร์ก (Heisenberg) ทางตอนใต้ของประเทศเยอรมนี
อาคารดังกล่าวก่อสร้างโดยบริษัท เพอรี (PERI) บริษัทด้านการก่อสร้างชื่อดังของเยอรมนี ในฐานะผู้รับเหมาของอาคารนี้ โดยตัวอาคารที่จะก่อสร้าง มีรูปทรงคล้ายสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง 11 เมตร ยาว 54 เมตร และสูง 9 เมตร พื้นที่ใช้สอยรวม 500 ตารางเมตร
ลักษณะงานก่อสร้างอาคารจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป
โครงการทั้งหมดก่อสร้างด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ที่มีชื่อว่าบอดทู (BOD2) จากบริษัท โคบอด (COBOD) บริษัทเครื่องพิมพ์ 3 มิติ จากเดนมาร์ก มีลักษณะโครงสร้างระบบเสาคานเคลื่อนตัวตามแกน รองรับการพิมพ์ก่อตัวเป็นชั้น แต่ละชั้นหนาตั้งแต่ 2 - 10 เซนติเมตร และสูงไม่เกิน 4 เซนติเมตร
ในด้านการทำงานเครื่องพิมพ์ 3 มิติ บอดทู สามารถพิมพ์ชั้นคอนกรีตหรือวัสดุก่อสร้างใด ๆ ด้วยความยาวสูงสุด 1 เมตรต่อวินาที หรือเทียบเท่าการสร้างห้องด้วยอัตรา 4 ตารางเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งในงานนี้ก็ใช้เวลาในการขึ้นรูปกำแพงของทั้งอาคารรวมแค่ 140 ชั่วโมง ด้วยการควบคุมของคน 2 คน เท่านั้น
เป้าหมายการก่อสร้างอาคารจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป
โครงการนี้เริ่มก่อสร้างเมื่อ 31 มีนาคมที่ผ่านมา และจะเสร็จสิ้นในช่วงสิ้นกรกฎาคมที่จะถึงนี้ ซึ่งทางบริษัท ไฮเดลเบิร์ก ไอที แมเนจเมนต์ (Heidelberg IT Management) เจ้าของอาคารดังกล่าว จะใช้เป็นศูนย์กลางข้อมูลและระบบคลาวด์รวมถึงเป็นโรงแรมและส่วนการค้าต่อไป
โดยก่อนหน้านี้ทางเพอรี ได้ทำการก่อสร้างบ้านเดี่ยว 2 ชั้น ด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของเยอรมนี ที่เมืองเบกคัม (Beckum) เมืองทางตะวันตกของประเทศ ด้วยชุดการก่อสร้างแบบเดียวกันกับโครงการในเมืองไฮเซนเบิร์กไปเมื่อปี 2021 ที่ผ่านมาอีกด้วย
ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นจิ๊กซอว์จากภาพฉากใหญ่ของวงการก่อสร้างทั่วโลกที่ก่อตัวชัดเจนขึ้นว่าไม่ใช่การสร้างแค่บ้านเรือนขนาดเล็กอีกต่อไป แต่ในอนาคต การสร้างอาคารขนาดใหญ่หรืออาคารไฮเทคในต่างประเทศก็กำลังจะหันมาใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ ด้วยเช่นกัน
ที่มารูปภาพ SSV Architekten, PERI และ KRAUS GRUPPE
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67