Vast จับมือ SpaceX เปิดตัวสถานีอวกาศเชิงพาณิชย์ปี 2025
Vast จับมือ SpaceX เปิดตัวสถานีอวกาศเชิงพาณิชย์ปี 2025 รองรับนักบินอวกาศได้ประมาณ 4 คน สามารถใช้ชีวิตบนอวกาศได้นาน 30 วัน
วันที่ 10 พฤษภาคม ที่ผ่านมาบริษัท เวส (Vast) บริษัทเทคโนโลยีอวกาศได้เปิดเผยแผนการก่อสร้างสถานีอวกาศเชิงพาณิชย์แห่งแรกของโลกชื่อว่า เฮเวน-1 (Haven-1) โดยความร่วมมือกับบริษัท สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) เตรียมส่งขึ้นสู่อวกาศโดยใช้จรวดฟอลคอน 9 (Falcon 9) ในเดือนสิงหาคมปี 2025
สถานีอวกาศเฮเวน-1 (Haven-1) ถูกออกแบบให้รองรับนักบินอวกาศได้ประมาณ 4 คน สามารถใช้ชีวิตบนอวกาศได้นาน 30 วัน ก่อนเดินทางกลับโลก พลังงานไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ 8 แผง ที่ติดตั้งไว้กับตัวสถานีอวกาศกำลังการผลิตไฟฟ้า 1,000 วัตต์ รองรับการสื่อสารตลอด 24 ชั่วโมง โครงสร้างของสถานีอวกาศมีขนาดไม่ใหญ่มากนักเพื่อความสะดวกในการขนส่งขึ้นสู่อวกาศระดับวงโคจรต่ำ
นักบินอวกาศภายในสถานีอวกาศเฮเวน-1 (Haven-1) มองเห็นความสวยงามของอวกาศผ่านโดมแก้วขนาดใหญ่ ภายในสถานีอวกาศมีห้องทำกิจกรรมร่วมกัน ห้องนอนที่มีความเป็นส่วนตัวอินเทอร์เน็ตและ Wi-Fi ตลอด 24 ชั่วโมง ห้องออกกำลังกายสำหรับการรักษากระดูกและกล้ามเนื้อ รวมไปถึงพื้นที่สำหรับการวิจัยทดลองทางด้านวิทยาศาสตร์
ปัจจุบันบริษัท เวส (Vast) เริ่มเปิดให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาดูรายละเอียดที่พักบนสถานีอวกาศเฮเวน-1 แล้วบางส่วนผ่านทางหน้าเว็บไซต์ vasastspace.com/reserve โดยในระยะแรกบริษัทต้องการลูกค้าที่เป็นหน่วยงานด้านอวกาศ บุคคลที่เกี่ยวข้องกับโครงการวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการกุศล
การเดินทางขนส่งนักบินอวกาศระหว่างโลกกับสถานีอวกาศเฮเวน-1 ใช้ยานอวกาศครูชดราก้อน (SpaceX Crew Dragon) และจรวดฟอลคอน 9 (Falcon 9) ของบริษัท สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ซึ่งปัจจุบันถูกใช้งานขนส่งนักบินอวกาศไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ ISS มาแล้วหลายภารกิจ
คาดว่าหลังจากปี 2025 เป็นต้นไปวงการอวกาศเอกชนจะคึกคักอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นอกจากโครงการสถานีอวกาศเฮเวน-1 (Haven-1) ยังมีโครงการสถานีอวกาศ Orbital Reef ของบริษัท Blue Origin มีกำหนดการส่งขึ้นสู่อวกาศในช่วงเวลาดังกล่าวอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีโครงการสถานีอวกาศสตาร์แลป (Starlab) ของบริษัท โวเยเจอร์ (Voyager), บริษัท ล็อกฮีดมาร์ติน (Lockheed Martin) และบริษัท นาโนร็อค (Nanoracks) ในปี 2027 นับเป็นช่วงเวลาสำคัญครั้งหนึ่งในวงการอวกาศ
สำหรับแผนการในอนาคตบริษัท เวส (Vast) มีแผนการก่อสร้างสถานีอวกาศขนาดใหญ่ความยาวมากกว่า 100 เมตร รองรับการสร้างแรงโน้มถ่วงเทียม (Artificial gravity) ซึ่งช่วยให้นักบินอวกาศสามารถรับรู้ถึงแรงโน้มถ่วงไม่แตกต่างจากโลก โดยกระบวนการก่อสร้างทั้งหมดบริษัทคาดว่าจะใช้บริการของยานอวกาศขนาดใหญ่สตาร์ชิป (Starship) ซึ่งปัจจุบันบริษัท สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) กำลังอยู่ในช่วงของการทดสอบและพัฒนา
ที่มาของข้อมูล Engadget
ที่มาของรูปภาพ Vastspace
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67