TNN สหรัฐฯ พัฒนาหุ่นยนต์ดิจิต (Digit) ทำงานในโกดังสินค้าร่วมกับมนุษย์

TNN

Tech

สหรัฐฯ พัฒนาหุ่นยนต์ดิจิต (Digit) ทำงานในโกดังสินค้าร่วมกับมนุษย์

สหรัฐฯ พัฒนาหุ่นยนต์ดิจิต (Digit) ทำงานในโกดังสินค้าร่วมกับมนุษย์

พาชม Digit หุ่นยนต์ใหม่จากบริษัทในสหรัฐอเมริกา ที่หวังเข้ามาทำหน้าที่หุ่นยนต์ประจำโกดังสินค้า และทำงานช่วยเหลือมนุษย์ในฐานะหุ่นยนต์ที่เป็นมิตรในที่ทำงาน

บริษัท อะจิลิตี้ โรบอติกส์ (Agility Robotics) ในรัฐออริกอน (Oregon) ของสหรัฐอเมริกา เปิดตัวหุ่นยนต์ตัวที่มีชื่อว่า ดิจิต (Digit) หุ่นยนต์แบบ 2 ขา ที่ได้รับการต่อยอดจากการพัฒนาต้นแบบมาตั้งแต่ปี 2012 ซึ่งปรับปรุงเพิ่มลักษณะการเคลื่อนไหวและความสามารถให้ใกล้เคียงมนุษย์มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง


หุ่นยนต์ดิจิต (Digit) มีความสามารถในการยกกล่องไปยังจุดที่กำหนดแตกต่างจากมนุษย์ที่มีข้อจำกัดทางร่างกาย โดยหุ่นยนต์ดิจิตสามารถยกสิ่งของในท่าทางที่เฉพาะได้ เช่น การย่อตัวถึงพื้นเพื่อหยิบกล่อง หรือการยกกล่องจากพื้นที่แคบ ๆ ได้โดยสะดวก ต่างจากมนุษย์ที่อาจต้องใช้พื้นที่หรือการออกตัวในท่าทางที่ต่างออกไป


หุ่นยนต์ดิจิต (Digit) ได้รับการปรับปรุงให้ชาร์จไฟได้เร็วขึ้นกว่ารุ่นก่อนหน้า และปรับปรุงโครงสร้างให้มีความสูง 5 ฟุต 9 นิ้ว หรือประมาณ 175 เซนติเมตร พร้อมน้ำหนัก 140 ปอนด์ หรือ 63.5 กิโลกรัม พร้อมขา 2 ขา สำหรับการเดินและการทรงตัว และแขน 2 แขน สำหรับหยิบจับสิ่งของที่คล้ายกับมนุษย์ และยังมีดวงตาเทียมจากหน้าจอแอลอีดี (LED) เพื่อแสดงความรู้สึกหรือสถานะการทำงาน


โจนาธาน เฮิรสต์ (Jonathan Hurst) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิค (Chief of Technical Officer: CTO) ของบริษัท อะจิลิตี้ โรบอติกส์ (Agility Robotics) เคยกล่าวในวิดีโอประชาสัมพันธ์ครั้งหนึ่งว่า  

“เรากำลังสร้างหุ่นยนต์ เพื่อทำงานร่วมกับมนุษย์ รอบผู้คน และเพื่อมนุษย์ทุกคน เราไม่ได้กำลังสร้างหุ่นยนต์เพื่อให้เหมือนกับมนุษย์”


ทางบริษัทเชื่อว่าหุ่นยนต์ดิจิต (Digit) ไม่ได้พัฒนามาเพื่อแย่งงานหรือแทนที่มนุษย์ในการทำงาน แต่ทางบริษัทอยากให้มนุษย์ได้มีเวลาไปทำงานที่เหมาะกับตัวเองหรืองานที่ต้องอาศัยความซับซ้อนมากกว่านี้ เพราะว่าสิ่งที่หุ่นยนต์ดิจิตจะทำก็คือลักษณะงานที่ซ้ำซากอย่างการยกของภายในโกดังสินค้าเป็นหลัก โดยเปิดโอกาสให้พนักงานในโกดังรับมือกับปัญหาอื่น ๆ แทน โดยยึดหลักการทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์กับหุ่นยนต์อย่างปลอดภัย



ที่มาข้อมูล Engadget

ที่มารูปภาพ Agility Robotics

ข่าวแนะนำ