YouTube ทำระบบพากย์เสียงสู้ Netflix มีหลายภาษาและเริ่มใช้ไปแล้วด้วย
ยูทูบ (YouTube) เปิดตัวระบบเสียงพากย์หลากหลายภาษา คาดว่าทำมาเพื่อแข่งขันกับบริการวิดีโอสตรีมมิงโดยเฉพาะเน็ตฟลิกซ์ (Netflix)
สควิด เกม (Squid Game), รีบอร์น ริช (Reborn Rich), ไอส์แลนด์ (Island) หรือแม้แต่ซาวนด์แทร็ก นัมเบอร์วัน (Soundtrack #1) ที่ฉายผ่านบริการวิดีโอสตรีมมิง (Video Streaming) ต่างมีจุดร่วมทั้งความโด่งดังระดับสากล และทั้งหมดนำเสนอเป็นภาษาเกาหลีซึ่งไม่ใช่ภาษาหลักของโลก สะท้อนว่ากำแพงภาษาในปัจจุบันนั้นกำลังบางลงอย่างต่อเนื่อง และเพื่อปรับตัวกับสถานการณ์นี้ ยูทูบ (YouTube) ผู้ให้บริการเผยแพร่วิดีโอคอนเทนต์ (Video Hosting Service) ก็ได้เพิ่มบริการพากย์เสียง (Dubbing) ในหลากหลายภาษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
การเพิ่มบริการดังกล่าวเริ่มต้นทดสอบในเหล่าครีเอเตอร์ (Creator) ที่ได้รับเชิญ โดยจะอยู่ในรูปแบบการติดต่อกับผู้ให้บริการพากย์เสียงโดยเฉพาะ (Third Party) โดยผู้สร้างไม่จำเป็นต้องเตรียมเนื้อหาในภาษาอื่น ๆ แต่อย่างใด ส่วนผู้ชมก็จะสามารถรับชมเป็นภาษาที่ต้องการได้ผ่านการตั้งค่าที่อยู่ในจุดเดียวกันกับการปรับแต่งความละเอียดภาพ ซึ่งทางยูทูบได้ทดสอบแปลงเนื้อหาทั้งหมด 40 ภาษา จาก 3,500 วิดีโอ เพื่อแปลงไปเป็นเนื้อหาในภาษาอื่น ๆ
TNN Tech ได้ทดสอบเล่นเนื้อหาจากช่องมิสเตอร์บีสต์ (MrBeast) ที่เป็นหนึ่งในครีเอเตอร์ชื่อดังระดับโลกที่เข้าร่วมโครงการนี้ และพบว่านอกจากคำบรรยายภาษาไทยแล้วยังมีเสียงพากย์ไทยด้วยเช่นกัน และวิดีโอนั้นก็รองรับเสียงพากย์ทั้งหมด 12 ภาษา รวมถึงภาษาอังกฤษที่เป็นต้นฉบับ ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลที่เจ้าตัวได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อเช่นกัน
ระบบเนื้อหาแบบใหม่นี้เป็นผลดีโดยตรงต่อเหล่าครีเอเตอร์อย่างมาก เนื่องจากจะเป็นการขยายฐานการตลาดเนื้อหาให้กว้างขึ้นอย่างมหาศาล ซึ่งดีกว่าการทำวิดีโอในหลายภาษาที่กินเวลาและทรัพยากรอย่างสูง อย่างไรก็ตาม ในระยะแรกทางยูทูบไม่ได้ออกมาเปิดเผยว่ามีใครบ้างที่ได้สามารถใช้งานฟีเชอร์นี้ และระบุเพียงว่ามีผู้ร่วมทดสอบหลักพันคนเท่านั้น
ในอนาคต ทางยูทูบ (YouTube) ให้ข้อมูลว่าจะพัฒนาให้บริการนี้สามารถใช้งานในเนื้อหาแบบช็อตส์ (Shorts) หรือวิดีโอแบบสั้น (ที่เปิดตัวมาแข่งกับ TikTok ก่อนหน้านี้) ต่อไป ส่วนในปัจจุบันจะเป็นเนื้อหาแบบยาว (Long-Form Content) ไปก่อน
ที่มาข้อมูล TechCrunch
ที่มารูปภาพ Unsplash
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67