TNN เรือยอช์ตยักษ์จากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ พลังงานไฮโดรเจนจากแสงอาทิตย์ สุดยอดไอเดียจากอิตาลี

TNN

Tech

เรือยอช์ตยักษ์จากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ พลังงานไฮโดรเจนจากแสงอาทิตย์ สุดยอดไอเดียจากอิตาลี

เรือยอช์ตยักษ์จากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ พลังงานไฮโดรเจนจากแสงอาทิตย์ สุดยอดไอเดียจากอิตาลี

สถาปนิกชาวอิตาลีเสนอไอเดียสร้างเพกาซัส (PEGASUS) เรือยอช์ตยักษ์จากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ที่ใช้พลังงานไฮโดรเจนที่ผลิตจากแสงอาทิตย์ในการขับเคลื่อน

ในช่วงปีที่ผ่านมามีการนำเสนอแนวคิดเรือยอช์ต (Yacht) ที่ใช้พลังงานทางเลือกซึ่งเป็นยานพาหนะขนาดใหญ่และหรูหรามากขึ้น เช่น แพนเจียส (Pangeos) อภิมหาเรือยอช์ต (Terayacht) จากพลังงานสะอาดแบบผสม (เช่น พลังงานไฮโดรเจน แสงอาทิตย์ และลม) เพลกตรัม (Plectrum) เรือซูเปอร์ยอช์ต (Superyacht) พลังงานไฮโดรเจน รวมไปถึงดมุส (Domus) ต้นแบบเรือยอช์ตพลังงานแสงอาทิตย์ และล่าสุดก็มีเรือยอช์ตพลังงานแสงอาทิตย์แบบใหม่มานำเสนออีกครั้ง แต่สิ่งที่พิเศษในคราวนี้ก็คือเรือทั้งลำจะผลิตขึ้นโดยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ


เรือเพกาซัส (PEGASUS) เป็นเรือซูเปอร์ยอช์ต (Superyacht) ที่ออกแบบโดยโจเซฟ โฟรากิส (Jozeph Forakis) สถาปนิกชาวอิตาลี (อีกแล้ว) มีความยาวอยู่ที่ 88 เมตร ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ตามกราบเรือทั้งสองฝั่งและหลังคาส่วนบนของเรือ โดยเป็นลักษณะของหลังคากระจกที่เป็นโซลาร์เซลล์ในตัว (Photovoltaic Glass Window) แต่ไม่ได้ระบุข้อมูลตัวเรือเพิ่มเติม แต่จากการสังเกตภาพแบบร่างคาดได้ว่าจะมีความสูง 5 ชั้น รวมชั้นท้องเรือ


โครงสร้างตัวเรือทั้งหมดจะขึ้นรูปด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ตั้งแต่กระดูกงูของตัวเรือ ไปจนถึงโครงสร้างสำหรับการขึ้นโครงเรือ ตลอดจนพื้นที่และส่วนประกอบต่าง ๆ ยกเว้นวัสดุสำหรับการตกแต่งภายใน 



จุดเด่นสำคัญอีกด้านของเรือเพกาซัส (PEGASUS) คือ ระบบการสร้างพลังงาน โดยไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์จะทำหน้าที่ในการทำระบบแยกก๊าซไฮโดรเจนด้วยไฟฟ้า (Electrolysis) เป็นหลัก ส่วนก๊าซไฮโดรเจนที่ผลิตได้จะถูกเก็บในถังเชื้อเพลิงเป็นหลัก แต่มีบางส่วนจะนำไปแปลงเป็นเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) สำหรับการผลิตไฟฟ้ากักเก็บในแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน (Li-ion Battery) ต่อไป


เหตุผลที่เรือมีระบบพลังงานแบบนี้ เพราะผู้ออกแบบต้องการให้เรือมีพลังงานสำหรับระยะสั้น (การสตาร์ตมอเตอร์ หรือระบบในตัวเรือที่ต้องการไฟฟ้าแบบทันที) และพลังงานระยะยาวในการเดินทางจากก๊าซไฮโดรเจน นอกจากนี้ตัวเรือยังมีเครื่องยนต์ดีเซลสำรองกรณีระบบหลักพลังงานหมดหรือขัดข้องอีกด้วย


ในขณะที่ภายในตัวเรือเน้นความหรูหราแต่ให้ความปลอดโปร่ง ผสานกับการตกแต่งด้วยต้นไม้ที่ให้ความรู้สึกใกล้ชิดกับธรรมชาติ สีภายในเน้นโทนสีเบจที่ให้ความสบายตาและอบอุ่น รวมไปถึงยังเน้นความเปิดโล่งด้วยหน้าต่างแบบกระจกที่สูงตั้งแต่พื้นจรดชั้นเพดานอีกด้วย


โจเซฟ โฟรากิส (Jozeph Forakis) เชื่อว่าแนวคิดเรือเพกาซัส หรือเรือซูเปอร์ยอช์ตพลังงานสะอาดนี้จะสร้างการเดินทางที่ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างแท้จริงได้ โดยคาดว่าเรือลำนี้จะกลายเป็นความจริงได้ภายในปี 2030



ที่มาข้อมูล Designboom, Forakis Design

ที่มารูปภาพ Forakis Design

ข่าวแนะนำ