นักออกแบบอิตาลีชื่อดังเผยต้นแบบเรือไฮโดรฟอยล์พลังไฮโดรเจนสุดอลังการ
ไอเดียต้นแบบเรือผิวน้ำ (Hydrofoil) สุดอลังการ ทั้งใหญ่โตและหรูหรา มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ขับเคลื่อนด้วยพลังไฮโดรเจน
ปิแอร์เปาโล ลัซซารินี (Pierpaolo Lazzarini) นักออกแบบชาวอิตาลีคนดัง เป็นผู้ที่เปิดแนวคิดยานพาหนะล้ำยุคมาหลายต่อหลายชิ้น โดยก่อนหน้านี้เคยมีผลงานออกแบบเรือแพนเจียส (Pangeos) แนวคิดของเรือที่ฉีกกรอบเมืองลอยน้ำเดิม ๆ และในคราวนี้นักออกแบบคนนี้ร่วมกับสตูดิโอของเขาได้เปิดเผยไอเดียของเรือผิวน้ำ (Hydrofoil) แบบใหม่ล่าสุดที่ขับเคลื่อนด้วยพลังไฮโดรเจน ทำความเร็วได้เกือบ 140 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกสุดหรูครบเครื่องในลำเดียว
แนวคิดเรือผิวน้ำ หรือเรือไฮโดรฟอยล์ (Hydrofoil) ลำนี้เรียกว่าเพลกตรัม (Plectrum) กำหนดให้มีความยาวตัวเรืออยู่ที่ 74 เมตร ออกแบบให้เป็นเรือที่ยกตัวเหนือผิวน้ำ (Foil System) เพื่อลดแรงต้านระหว่างน้ำกับตัวเรือ โดยมีความสูงจากผิวน้ำ 15 เมตร ขณะเคลื่อนที่ด้วยความเร็วต่ำหรือหยุดนิ่งแต่เมื่อเรือแล่นทำความเร็วสูงเรือจะยกตัวสูงขึ้นเป็น 20 เมตร โดยใช้ระบบขับเคลื่อนพลังไฮโดรเจนผ่านมอเตอร์ 3 ตัว ที่ติดตั้งตรึงไว้ใต้น้ำ แต่ละตัวให้กำลัง 5,000 แรงม้า ทำความเร็วได้สูงสุด 75 นอต หรือประมาณ 140 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ภายในตัวเรือเพลกตรัม (Plectrum) จะมีทั้งหมด 4 ชั้น เริ่มจากส่วนท้องเรือที่ติดตั้งเครื่องยนต์และห้องเก็บเชื้อเพลิง ชั้นที่ถัดขึ้นมาจะเป็นห้องพักลูกเรือ 4 ห้อง พร้อมกับห้องเก็บเรือเล็ก (Tender) ที่สามารถปล่อยเรือออกทางกราบเรือทั้ง 2 ฝั่งได้ ท้ายเรือในชั้นนี้จะเป็นโรงรถที่ใส่รถยนต์หรู รวมไปถึงเครื่องเล่นทางน้ำต่าง ๆ และที่ชั้น 3 นับจากท้องเรือ จะมีห้องเก็บเฮลิคอปเตอร์ที่บริเวณหัวเรือ และมีห้องพักอีก 1 ห้องในบริเวณใกล้เคียงกัน กลางเรือที่ชั้นนี้จะเป็นห้องโถงพร้อมจุดชมวิวจากภายในตัวเรือ ส่วนท้ายเรือจะเป็นสระว่ายน้ำกับระเบียง และห้องควบคุมกับห้องพักอีก 1 ห้องนั้นจะอยู่ชั้นบนสุด
ทางทีมลัซซารินี (Lazzarini Design) ประเมินว่าจะต้องใช้เงินกว่า 80 ล้านยูโร หรือกว่า 2,900 ล้านบาท ในการทำให้แนวคิดเรือเพลกตรัม (Plectrum) เป็นจริงขึ้นมา และเชื่อว่าเรือลำนี้จะเกิดขึ้นจริงได้ภายในปี 2025 หรืออีกประมาณ 2 ปี เท่านั้น
ที่มาข้อมูล Interesting Engineering, Lazzarini Design
ที่มารูปภาพ Lazzarini Design
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67