ไทรทัน เครื่องผลิตไฟฟ้าจากคลื่นทะเลมาอีกแล้ว ! แถมทนและเสถียรมากด้วย !
สตาร์ตอัปสหรัฐฯ เปิดตัว ไทรทัน เครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าจากคลื่นทะเลตัวใหม่ล่าสุด ผลิตไฟฟ้าได้ในทุกสภาพคลื่น แถมยังทนทานมาก ไม่หวั่นแม้พายุเข้า
การผลิตไฟฟ้าด้วยคลื่นทะเลกลายเป็นเรื่องสำคัญประจำปี 2022 ไปแล้วในตอนนี้ โดยแต่ละบริษัทต่างชูจุดเด่นในด้านประสิทธิภาพการผลิต หรือความสะดวกในการติดตั้ง แต่บริษัท ออสซิลลา พาวเวอร์ (Oscilla Power) สตาร์ตอัปด้านพลังงานจากสหรัฐอเมริกา ได้ทำเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าจากคลื่นทะเลที่ทั้งมีประสิทธิภาพและสามารถทำงานได้ในทุกสภาพอากาศที่รุนแรง
เครื่องผลิตไฟฟ้าดังกล่าวมีชื่อว่า ไทรทัน (Triton) เป็นเครื่องผลิตไฟฟ้าจากคลื่นทะเล หรือ WEC (Wave Energy Converter) ที่ผลิตโดยบริษัท ออสซิลลา พาวเวอร์ (Oscilla Power) ที่ตั้งอยู่ในเมืองซีแอตเทิล มลรัฐวอชิงตันของสหรัฐอเมริกา สามารถผลิตไฟฟ้าได้สูงสุด 100 กิโลวัตต์ (kW) แต่ไม่ได้บอกขนาดและน้ำหนักของตัวเครื่องผลิตไฟฟ้าไว้แต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม จุดเด่นที่สำคัญของไทรทันอยู่ที่กระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าที่ต่างจากเครื่องรุ่นอื่น ๆ ที่อาศัยแรงด้านใดด้านหนึ่งของคลื่นทะเลมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า เพราะไทรทันสามารถรับคลื่นในทุกทิศทางมาเป็นแรงส่งในการผลิตไฟได้ผ่านระบบไฮดรอลิกแยกอิสระที่ใช้ควบคุมส่วนรับหน้าคลื่นมาเปลี่ยนเป็นพลังงาน โดยตัวรับคลื่นจะเป็นส่วนที่จมใต้น้ำบางส่วน ซึ่งเชื่อมกับทุ่นลอยที่ลอยพ้นน้ำเพื่อควบคุมการทำงานของส่วนรับหน้าคลื่น
ระดับความลึกของตัวรับหน้าคลื่นจะปรับเปลี่ยนไปตามความแรงของกระแสน้ำทะเล เมื่อคลื่นทะเลแรงจากพายุหรือปัจจัยอื่น ๆ ตัวเครื่องจะปรับให้ส่วนรับหน้าคลื่นจมลึกขึ้นเพื่อไม่ให้เครื่องทำงานเกินความสามารถ แต่ยังคงสามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งต่างจากเครื่องผลิตไฟฟ้าจากคลื่นทะเลทั่ว ๆ ไปที่จำเป็นต้องหยุดการทำงานขณะที่มีมรสุมหรือคลื่นทะเลรุนแรงพาดผ่าน
อีกจุดเด่นสำคัญของไทรทันคือมีระบบติดตั้งและกู้คืนอัตโนมัติ ทำให้การติดตั้งไทรทันไม่จำเป็นต้องใช้เรือขนาดใหญ่เป็นพิเศษ เพียงแค่ใช้เรือขนส่งทั่วไปก็เพียงพอ โดยในอนาคตบริษัทจะพัฒนาให้เครื่องผลิตไฟฟ้าสามารถผลิตไฟฟ้าในระดับเมกะวัตต์ (MW) ได้ในอนาคต ส่วนรุ่นปัจจุบันที่มีชื่อว่าไทรทันซี (Triton C) นั้นติดตั้งทดสอบในท่าเรือโฮโนลูลู (Honolulu Habour) ไปแล้วในตอนนี้
ที่มาข้อมูล Designboom
ที่มารูปภาพ Oscilla Power
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67