จีนติดตั้ง “เมิ่งเทียน” ชิ้นส่วนสุดท้ายของสถานีอวกาศเทียนกงสำเร็จแล้ว
โมดูล “เมิ่งเทียน” ชิ้นส่วนสำคัญและสุดท้ายของสถานีอวกาศเทียนกง ได้เข้าสู่ตำแหน่งอย่างราบรื่นและแม่นยำเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สถานีอวกาศเทียนกง เป็นสถานีอวกาศของจีนภายใต้การดูแลขององค์การอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุมแห่งประเทศจีน (China Manned Space Agency: CMSA) ซึ่งเริ่มการก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2021 โดยแบ่งออกเป็น 3 ชิ้นส่วนใหญ่ ๆ ได้แก่ เทียนเหอ (Tianhe) ที่เป็นส่วนแกนกลาง เหวินเถียน (Wentian) ที่เป็นห้องทดลองส่วนแรก ซึ่งทำให้สถานีอวกาศมีรูปทรงคล้ายตัวแอล (L) และ เมิ่งเทียน (Mengtian) ที่เป็นส่วนสำคัญชิ้นสุดท้ายในการก่อสร้างก็ได้เข้าสู่ตำแหน่งและติดตั้งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
เมิ่งเทียน (Mengtian) เป็นโมดูลขนาดใหญ่อันดับ 3 ของสถานีอวกาศจีน ถูกส่งขึ้นสู่ห้วงอวกาศด้วยจรวดขนส่ง ลองมาร์ช 5 บี วาย 4 (Longmarch 5B Y4) จรวดขนส่งอวกาศในชุดลองมาร์ช (Longmarch) ที่ใช้ขนส่งทุกชิ้นส่วนในโครงการเมื่อวันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา ก่อนที่จะเข้าสู่วงโคจรที่กำหนดไว้อย่างแม่นยำ
เนื่องจากโครงการสถานีอวกาศเทียนกงนั้นต้องการให้มีรูปร่างเป็นตัวที (T) เพื่อลดภาระในการรักษาโมเมนตัมและตำแหน่งวงโคจร โมดูลหลักเทียนเหอ (Tianhe) จึงต้องทำการปรับตำแหน่งโดยการทำมุม 90 องศา เพื่อให้ตรงกับตำแหน่งถาวรสำหรับการติดตั้งเมิ่งเทียน (Mengtian) จนได้รูปร่างตัวที (T) ที่มีทั้ง 3 โมดูล เป็นผลสำเร็จ ซึ่งเกิดจากการวางแผนอย่างละเอียด พร้อมความรอบคอบ ละเอียดอ่อน เพื่อให้การย้ายตำแหน่งนั้นมีเสถียรภาพ และเข้าตำแหน่งอย่างแม่นยำ
นายหลัว ชาว ผู้ออกแบบระบบสถานีอวกาศเทียนกงอธิบายว่า เหล่านักวิจัยใช้อุปกรณ์เพื่อทำการล็อกตัวชิ้นหลายชิ้นและเน้นความแม่นยำของอุปกรณ์ในด้านต่าง ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการสั่นสะเทือนที่ส่งผลต่อความแม่นยำ ซึ่งทำให้ระบบการเทียบท่า และการล็อกตัวของอุปกรณ์เป็นไปอย่างมั่นคงด้วย
โดยในอนาคต คาดว่าสถานีอวกาศเทียนกง ซึ่งเป็นรุ่นที่ 2 ที่ประจำการบนอวกาศต่อจากรุ่นแรกที่ใช้ปฏิบัติงานระหว่างปี 2011 - 2018 จะกลายเป็นกำลังสำคัญในการทำภารกิจเพื่อการศึกษาวิจัยด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอวกาศ และเป็นฐานสำคัญสำหรับลูกเรือจีนเพื่อการปฏิบัติภารกิจอวกาศต่อไป
ที่มาของข้อมูลและรูปภาพ China Media Group
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67