TNN แคลิฟอร์เนียวางแผงโซลาร์เซลล์บนคลอง ผลิตไฟฟ้าและแก้ปัญหาภัยแล้งไปพร้อม ๆ กัน

TNN

Tech

แคลิฟอร์เนียวางแผงโซลาร์เซลล์บนคลอง ผลิตไฟฟ้าและแก้ปัญหาภัยแล้งไปพร้อม ๆ กัน

แคลิฟอร์เนียวางแผงโซลาร์เซลล์บนคลอง ผลิตไฟฟ้าและแก้ปัญหาภัยแล้งไปพร้อม ๆ กัน

รัฐบาลท้องถิ่นในรัฐแคลิฟอร์เนียทุ่มงบ 700 ล้านบาท แก้ปัญหาการระเหยของน้ำจากแสงแดดด้วยการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เหนือคลอง

หากน้ำโดนความร้อนหรือแสงแดดเป็นเวลานาน ๆ ก็มีโอกาสที่น้ำจะระเหยได้ เป็นความรู้ทางวิทยาศาสตร์พื้นฐานที่ใคร ๆ ก็ทราบกันดี แม้แต่น้ำในคลองก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น แต่การแก้ปัญหาน้ำระเหยจากแสงแดดนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายดายนัก การสร้างสิ่งปลูกสร้างเพื่อบังแสงแดดก็อาจจะไม่คุ้มค่าก่อสร้าง แต่ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย รัฐบาลท้องถิ่นได้ตัดสินใจสร้างแผงโซลาร์เซลล์คลุมเหนือคลองส่งน้ำความยาวเกือบ 2.6 กิโลเมตร เพื่อต่อสู้กับภัยจากความร้อน


โครงการเน็กซัส (Project Nexus) เป็นโครงการแก้ปัญหาเชิงบูรณาการในด้านภัยแล้งและการผลิตกระแสไฟฟ้าที่เป็นพลังงานสะอาด โดยเลือกใช้เขตชลประทานเทอร์ล็อค (Turlock Irrigation District: TID) เป็นพื้นที่นำร่องในการสร้างแผงโซลาร์เซลล์คลุมเหนือคลองชลประทานเพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้ไปต่อยอดใช้งานที่เขตชลประทานอื่น ๆ ในรัฐแคลิฟอร์เนียต่อไป


การติดตั้งโซลาร์เซลล์ในเขตนำร่องจะใช้แผงโซลาร์เซลล์ที่มีลักษณะเป็นแผ่นคล้ายส่วนตัดของสี่เหลี่ยมคางหมู มีความกว้าง 110 ฟุต หรือ 33.5 เมตร และติดตั้งระบบเป็นความยาวทั้งหมด 8,500 ฟุต หรือเกือบ 2.6 กิโลเมตร รอบ ๆ พื้นที่อ่างเก็บน้ำกลางของ TID โดยใช้งบประมาณตั้งต้น 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 734 ล้านบาท 


การดำเนินการในครั้งนี้เป็นการสร้างตามการศึกษาโครงการในปี 2021 ที่เสนอว่า หากสามารถติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ตามแนวคลองชลประทานในพื้นที่รัฐแคลิฟอร์เนียที่มีความยาวกว่า 4,000 ไมล์ หรือกว่า 643.7 กิโลเมตร สำเร็จ ก็จะช่วยลดการสูญเสียน้ำได้ถึงปีละ 63 ล้านแกลลอน หรือกว่า 286 ล้านลิตร เพียงพอต่อการนำไปอุปโภคบริโภคในครัวเรือนในพื้นที่กว่า 2 ล้านคน และยังสามารถสร้างกระแสไฟฟ้าได้มากกว่า 13 กิกะวัตต์ต่อปี เติมเต็มความต้องการใช้ไฟฟ้าได้ถึง 1 ใน 6 ของความต้องการทั้งหมดในรัฐแคลิฟอร์เนียในปัจจุบัน


โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการรับมือภัยพิบัติจากความแห้งแล้ง ที่ตั้งงบประมาณทั้งหมด 310 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว ๆ 10,960 ล้านบาท โดยการก่อสร้างระยะแรกจะเริ่มขึ้นภายในปีหน้า และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2024 


รัฐแคลิฟอร์เนียถือเป็นรัฐผู้นำด้านการใช้พลังงานสะอาดในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากก่อนหน้านี้ก็มีการประกาศนโยบายหยุดการจำหน่ายรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในปี 2035 รวมถึงประกาศให้แหล่งไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ต้องมาจากแหล่งพลังงานสะอาดให้ได้ภายในปี 2030 อีกด้วย



ที่มาข้อมูล

ที่มารูปภาพ Turlock Irrigation District

ข่าวแนะนำ