TNN SpaceX ส่งดาวเทียม Starlink ชุดใหม่จำนวน 46 ดวง ขึ้นสู่วงโคจรต่ำของโลก

TNN

Tech

SpaceX ส่งดาวเทียม Starlink ชุดใหม่จำนวน 46 ดวง ขึ้นสู่วงโคจรต่ำของโลก

SpaceX ส่งดาวเทียม Starlink ชุดใหม่จำนวน 46 ดวง ขึ้นสู่วงโคจรต่ำของโลก

วันจันทร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ เวลา 21.44 น. SpaceX ได้ส่งดาวเทียม Starlink ชุดใหม่ จำนวน 46 ดวง ขึ้นสู่วงโคจรต่ำของโลกด้วยจรวด Falcon 9

เมื่อวันจันทร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ เวลา 21.44 น. ณ สถานีกองทัพอากาศแหลมคะแนเวอรัล (CCAFS) บริษัทอวกาศยักษ์ใหญ่อย่าง SpaceX ประสบความสำเร็จในการส่งดาวเทียม Starlink ชุดใหม่จำนวน 46 ดวง ขึ้นสู่วงโคจรต่ำของโลกด้วยจรวด Falcon 9 จรวดขนส่งอวกาศที่มีความทันสมัยมากที่สุดในโลก


โดยภารกิจขนส่งดาวเทียม Starlink ในครั้งนี้ดาวเทียมทั้ง 46 ดวงจะถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรในระดับความสูงที่สูงกว่าเดิมและมีความกลมของวงโคจรมากกว่าการส่งในรอบที่ผ่าน ๆ มาเพื่อช่วยลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากพายุสุริยะที่เคยก่อความเสียหายร้ายแรงให้กับดาวเทียม Starlink กว่า 38 ดวง 


สำหรับจรวด Falcon 9 ที่ใช้ในภารกิจครั้งนี้เป็นจรวดบูสเตอร์หมายเลข B1058 ที่ได้รับการออกแบบให้สามารถเดินทางกลับมาลงจอดบนโลกเพื่อนำกลับมาใช้งานใหม่ โดยก่อนหน้านี้เคยถูกใช้ทำภารกิจขนส่งอวกาศมาแล้ว 10 ภารกิจ เช่น ภารกิจ Crew Demo-2, ANASIS-II, CRS-21, Transporter-1, Transporter-3 และ 5 ภารกิจแรกในการส่งดาวเทียม Starlink ที่บริษัท SpaceX กลับมาใช้กับจรวด Falcon 9 


นับตั้งแต่เปิดตัวโครงการดาวเทียม Starlink บริษัท SpaceX ได้ทำการส่งดาวเทียม Starlink ขึ้นสู่วงโคจรมาแล้วประมาณ 2000 ดวง และมีเพียงราว ๆ 200 ดวงเท่านั้นที่ล้มเหลวและที่เลิกใช้ คิดเป็นตัวเลขเพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น อย่างไรก็ตามจำนวนดังกล่าวเป็นตัวเลขโดยประมาณเนื่องจากบริษัท SpaceX ไม่เปิดเผยจำนวนของดาวเทียมอย่างเป็นทางการ สำหรับจำนวนดาวเทียม Starlink ที่โคจรอยู่บนในปัจจุบันนับได้ว่าบริษัท SpaceX เดินทางมาได้เกือบครึ่งทางแล้วจากเป้าหมายระยะแรกของการส่งดาวเทียม Starlink 4,400 ดวง ขึ้นสู่วงโคจร


โครงการดาวเทียม Starlink ของบริษัท SpaceX เป็นโครงข่ายอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมความเร็วสูงแต่มีอัตราความล่าช้าในการส่งข้อมูลต่ำทำให้ผู้ใช้งานสามารถใช้ความเร็วในการดาวน์โหลดได้ตั้งแต่ 150 ถึง 500Mbps ความเร็วในการอัปโหลดเป็น 20 ถึง 40Mbps ในขณะที่อัตราความล่าช้าเพียง 20ms นอกจากนี้ผู้ใช้ยังสามารถใช้อินเทอร์เน็ต Starlink ได้จากทั่วทุกมุมโลกเพียงมีจานรับสัญญาณ โดยทาง SpaceX ยังเคลมอีกว่าจานรับสัญญาณอินเทอร์เน็ต Starlink สามารถติดตั้งเองได้ง่าย




ข้อมูลจาก spaceflightnow.com 

ภาพจาก twitter.com/SpaceX

ข่าวฮิตติดแท็ก

ข่าวแนะนำ