ปฏิบัติการ "บังแสงอาทิตย์" ไม่ใช่ทางออกแก้โลกร้อน นักวิทย์ฯ ทั่วโลกเสนอเลือกใช้วิธีอื่นดีกว่า
การบังแสงอาทิตย์ในปฏิบัติการเปลี่ยนโลก จะช่วยลดความร้อนบนผิวโลกได้ แต่อาจกระทบต่อสิ่งมีชีวิตอื่นรวมถึงมนุษย์
ภาวะโลกร้อนยังเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอันดับหนึ่งที่ทุกคนต่างให้ความสำคัญ เพราะสามารถส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตทั่วโลกแม้กระทั่งมนุษย์ได้ ทำให้นักวิทยาศาสตร์พยายามคิดค้นวิธีต่าง ๆ เพื่อหยุดยั้งหรืออย่างน้อยก็เป็นการชะลอให้ภาวะโลกร้อนไม่รุนแรงไปยิ่งกว่านี้อีก
ซึ่งเมื่อเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมา โครงการวิจัย Solar Geoengineering Research Program จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้นำเสนอแนวทางในการชะลอภาวะโลกร้อนที่น่าจะมีประสิทธิภาพอย่างมาก นั่นคือการบดบังแสงอาทิตย์ !! โดยมีเป้าหมายในการลดความร้อนจากแสงแดดที่ส่องลงมายังพื้นโลก เมื่อรังสีความร้อนมีน้อยลงสุดท้ายบรรยากาศของโลกก็จะเย็นลงในที่สุด
กระบวนการดังกล่าวถูกเรียกว่า Geoengineering หรือปฏิบัติการเปลี่ยนโลก จากข้อมูลที่ทางโครงการวิจัยได้นำเสนอไว้ก่อนหน้านี้ คือการปล่อยสารกลุ่มแอโรซอล (Aerosol) ไปยังบรรยากาศชั้นสตราโทสเฟียร์ (Stratosphere) ซึ่งเครื่องบินจะบินอยู่ในชั้นบรรยากาศนี้ เนื่องจากมีอากาศสงบนิ่งไม่แปรปรวน มีไอน้ำน้อยและความชื้นต่ำ นอกจากนี้ยังมีชั้นโอโซนที่ช่วยดูดซับรังสีอัลตราไวโอเลตเอาไว้ด้วย และด้วยอากาศที่สงบนิ่งจึงเป็นชั้นบรรยากาศที่เหมาะแก่การปล่อยสารแอโรซอลให้มาบดบังแสงอาทิตย์นั่นเอง
นอกเหนือจากการปล่อยสารกลุ่มแอโรซอลเข้าไปในชั้นสตราโทสเฟียร์แล้ว อาจใช้การฉีดพ่นละอองน้ำทะเลขึ้นไปบนท้องฟ้าเพื่อทำให้ท้องฟ้าและเมฆมีความสว่างขึ้น จนสามารถสะท้อนแสงอาทิตย์ออกไปได้ หรือสุดท้ายคือการทำให้เมฆริ้ว (เมฆเซอร์รัส) บนท้องฟ้าเบาบางลง เพื่อให้รังสีที่สะท้อนจากโลกสามารถออกไปนอกชั้นบรรยากาศได้มากที่สุดนั่นเอง
ทั้งนี้ เนื่องด้วยปฏิบัติการดังกล่าวเป็นวิธีที่สุดโต่ง ล่าสุดจึงมีนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายกว่า 60 ราย เล็งเห็นว่าปฏิบัติการเปลี่ยนโลกเป็นอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตทั่วโลกอย่างมาก โดยประเด็นแรกคือการขัดต่อกฎหมายประเทศต่าง ๆ เพราะอาจมีรัฐบาลบางประเทศที่ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการนี้ พวกเขาก็ควรจะมีสิทธิ์ในการออกความเห็นว่าจะให้ปฏิบัติการเปลี่ยนโลกนี้ครอบคลุมพื้นที่ในประเทศของตนเองด้วยหรือไม่
แต่สิ่งที่ร้ายแรงที่สุด คือการบดบังแสงอาทิตย์จะรบกวนสภาพอากาศของโลก อาจทำให้เกิดมรสุมเขตร้อนในพื้นที่เอเชียใต้และแอฟริกาตะวันตก ในขณะที่พื้นที่ในแถบป่าแอมะซอนจะแห้งแล้งลงยิ่งกว่าเดิม อีกทั้งยังรบกวนนาฬิกาชีวิตของสิ่งมีชีวิตทั่วโลก สัตว์ป่าเกิดความสับสนช่วงเวลาออกหากิน, พืชพันธุ์ไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้และล้มตาย, สัตว์กินพืชขาดอาหาร และอื่น ๆ อีกมากมาย กลายเป็นห่วงโซ่ปัญหาตกลงมาสู่มนุษย์ในที่สุด
เพราะฉะนั้น ปฏิบัติการเปลี่ยนโลกอาจจะไม่ใช่แนวคิดที่ดีในการชะลอความรุนแรงของภาวะโลกร้อน เนื่องด้วยเหตุผลนานัปการที่ต้องพิจารณาให้รอบคอบเสียก่อน ในเวลานี้จึงต้องทำการค้นคว้ากันต่อไปว่าจะมีวิธีการใดอีกบ้าง ที่ช่วยชะลอภาวะโลกร้อนโดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในทางอื่น
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Interesting Engineering
ข่าวแนะนำ
-
จีนทดลองวิ่งรถบรรทุกไร้คนขับ
- 08:11 น.
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67