สรุปดรามาจดสิทธิบัตร “ปังชา” ชาวเน็ตท้วง!เมนู-ชื่อนี้มีใช้มานานแล้ว
สรุปดรามาจดสิทธิบัตร “ปังชา” ร้านดังฟ้องรายย่อย ชาวเน็ตท้วงเมนู-ชื่อนี้มีมานานแล้ว ด้านร้านประกาศชี้แจงสื่อสารผิดพลาด
เป็นประเด็นดรามาร้อนๆที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้จนติดเทรนด์ของโซเชียล X ร้านอาหารแห่งหนึ่งได้มีการโพสต์ข้อความลงบนเพจเกี่ยวกับการจดสิทธิบัตร “ปังชา” ทำให้เกิดการถกเถียงกันบนโลกโซเชียลว่า เมนูนี้มีขายมานานแล้ว และ อาจส่งผลกระทบกับผู้ค้ารายย่อย จนในที่สุดกรมทรัพย์สินทางปัญญาต้องออกมาชี้แจงในกรณีดังกล่าว เรามาดูกันว่าโดยสรุปแล้ว ดรามา ปังชา นั้นจบลงที่ใด
- ร้านอาหารชื่อดังแห่งหนึ่งได้มีการโพสต์ข้อความลงบนเพจของทางร้านระบุว่า “ปังชา” ได้รับความคุ้มครองเครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ และ สิทธิบัตร สงวนสิทธิ์ห้ามลอกเลียนแบบ ทำซ้ำดัดแปลงแก้ไข
- ในโลกโซเชียลต่างมีการถกเถียงกันว่า เมนูขนมปังเย็น ปังชาเย็น แบบนี้มีขายอยู่ทั่วไป การจดลิขสิทธิ์ จะส่งผลกระทบต่อผู้ค้ารายย่อยหรือไม่ ในชาวเน็ตบางส่วนระบุว่าการจดลิขสิทธิ์ อาจจะหมายถึงการจดทะเบียนรูปลักษณ์และการดีไซน์ของทางร้านไม่ได้เกี่ยวกับเมนูหรือชื่อแต่อย่างใด
- อย่างไรก็ตามมีการแชร์ในโลกโซเชียล ร้านขายขนมปังปิ้งแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงราย ถูกยื่นโนติสเรียกค่าเสียหาย 102 ล้านบาท จากร้านดังกล่าว เพราะใช้ชื่อร้านว่าปังชา ทั้งๆที่เปิดร้านมาตั้งแต่ปี 2564 เช่นเดียวกับร้านแห่งหนึ่งในจังหวัดหาดใหญ่ ก็ถูกยื่นฟ้องเช่นกัน เพราะมีคำว่าปังชา อยู่ในกล่องป้ายไฟ โดนคิดค่าเสียหายเป็นจำนวน 7 แสนบาท
- เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันในโลกโซเชียลว่า การส่งโนติสยื่นฟ้องร้านรายย่อยเรียก 100 ล้าน เป็นเรื่องที่ถูกต้องหรือไม่ เนื่องจากคำว่า ปังชา และ เมนูขนมปังเย็น เป็นเมนูทั่วไปที่ขายกันมานานแล้ว และ บริษัทเพิ่งจดทะเบียนทีหลังนั้นสามารถไล่ฟ้องได้จริงๆหรือ
- ทนายนิด้าได้ออกมาให้ความเห็นในกรณีดังกล่าวว่า โดยโพสต์ผ่านเพจส่วนตัวว่า “คำขอนี้ ขอจดเครื่องหมายบริการในหมวด ตามกรอบสีแดง ตามรูปที่ขอจดทะเบียนไม่ได้มีคำภาษาไทยว่า “ปังชา” มีแต่เพียงคำภาษาอังกฤษ ดังนั้นเจ้าของเครื่องหมายนี้ยิ่งไม่สามารถห้ามประชาชนไม่ให้ใช้คำว่า “ปังชา” ในการค้าขาย ชาไข่มุก น้ำแข็งไส เครื่องดื่มชา บริการร้านอาหารและเครื่องดื่มได้ ประชาชนทุกคนยังสามารถใช้คำว่า “ปังชา” ในการค้าขายสินค้าได้เช่นเดิม เจ้าของเครื่องหมายนี้จึงไม่มีสิทธิฟ้องประชาชนคนอื่นที่ใช้คำว่า “ปังชา”ได้
- กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ออกมาชี้แจงกรณีดรามา ปังชา ว่า น้ำแข็งไสราดชาไทยนั้นมีขายมานานแล้ว “จึงไม่มีใครสามารถจดสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตร” อ้างเป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียวได้ แต่! ภาชนะที่ใส่ปังชา ของแบรนด์ที่เป็นข่าว ได้มีการจดสิทธิบัตร การออกแบบผลิตภัณฑ์ไว้
กรมทรัพย์สินทางปัญญา ยังแนะนำผู้ประกอบการอื่นๆว่า เมนูน้ำแข็งไสราดชาไทย “ใครก็ขายได้” แต่อย่านำลวดลาย หรือ แบบภาชนะที่คนอื่นจดสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ไว้ไปผลิต แต่ถ้าหากว่าคิดค้นสูตรขนมขึ้นใหม่ ซึ่งยังไม่เคยปรากฏในที่ใดมาก่อน สามารถนำมาขอจดอนุสิทธิบัตรได้
- ทางร้านเจ้าของแบรนด์ต้นเรื่องของดรามาได้ออกมาขอโทษว่าเป็นการสื่อสารความเข้าใจที่คาดเคลื่อน และ ขอน้อมรับทุกคำติดชม จะนำข้อผิดพลาดดังกล่าวมาปรับปรุงเพื่อพัฒนาแก้ไขต่อไป พร้อมกับได้มีการปรึกษาหารือกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อหาทางออกร่วมกันเรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ เรื่องของ ปังชา ยังเป็นกระแสร้อนแรงอย่างต่อเนื่อง โดย ไวซ์ไซท์ ทำการเก็บข้อมูลการพูดถึงกระแสปังชา ตั้งแต่ช่วงที่มีกระแส ระหว่างวันที่ 27 สิงหาคม ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2566 ผ่านเครื่องมือ ZOCIAL EYE พบว่าบนโซเชียลกำลังพูดถึงเรื่องนี้มีมากกว่า 19,000 ข้อความ และยังคงมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งในช่วงเวลาเพียงแค่ 5 วัน มีเอ็นเกจเมนต์มากกว่า 2 ล้านเอ็นเกจเมนต์ โดยในวันที่ 31 สิงหาคมเพียงแค่วันเดียว มีการพูดถึงสูงถึง 1.2 ล้านเอ็นเกจเมนต์เลยทีเดียว
ข้อความส่วนใหญ่เกิดขึ้นบน Facebook มากที่สุด (63.48%) ตามมาด้วย Twitter (29.78%) Youtube (5.03%) Instagram (0.45%) และอื่นๆ (1.26%)
ข้อมูลจาก : กรมทรัพย์สินทางปัญญา, ทนายนิด้า
ภาพจาก : Lukkaithong - ลูกไก่ทอง Thai Royal Restaurant ,กรมทรัพย์สินทางปัญญา