สธ.เผย "โรคลัมปี สกิน" ในไทย ยังไม่มีรายงานติดต่อสู่คน
สธ. เผยข้อมูล "โรคลัมปี สกิน" ในไทย ยังไม่มีรายงานติดต่อสู่คน เป็นโรคที่พบได้ในสัตว์เคี้ยวเอื้อง มีพาหะนำโรคคือ แมลงดูดเลือด หากประชาชนจะรับประทานเนื้อโค กระบือ ต้องเป็นเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกใหม่
วันนี้( 24 มิ.ย.64) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากที่มีรายงานข่าวกรณีพบโค กระบือ และสัตว์เคี้ยวเอื้อง ติดเชื้อไวรัสโรคลัมปี สกินนั้น กรมควบคุมโรค ได้ติดตามสถานการณ์และดำเนินการร่วมกับกรมปศุสัตว์อย่างใกล้ชิด ทั้งมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันควบคุมโรค โดยเน้นการประสานความร่วมมือแบบบูรณาการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ทั้งนี้ จากการติดตามข้อมูลในประเทศไทย ยังไม่มีรายงานการติดต่อระหว่างสัตว์สู่คน
จากข้อมูลสถานการณ์โรคลัมปี สกิน ในประเทศไทย ของกรมปกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่ามีการระบาดมาตั้งแต่เดือน มี.ค. 64 ในหลายพื้นที่ มีสัตว์เคี้ยวเอื้องป่วยแล้ว 32,641 ตัว ตาย 374 ตัว ซึ่งเป็นทั้งโคเนื้อ โคนม และกระบือ ขณะนี้รักษาตามอาการ ซึ่งมีสัตว์ที่รักษาหายแล้วกว่า 1 หมื่นตัว และได้มีการนำเข้าวัคซีน เพื่อใช้ในการควบคุมโรค นอกจากนี้ ยังมีมาตรการควบคุมโรคด้านอื่นควบคู่ไปด้วย คือการชะลอการนำเข้าโคกระบือทั้งมีชีวิตและซากจากช่องทางชายแดน
โรคลัมปี สกิน (Lumpy skin disease) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสโรคลัมปี สกิน (LSDV) เป็นโรคที่พบได้ในสัตว์เคี้ยวเอื้อง เช่น โค กระบือ และยีราฟ สามารถติดต่อผ่านการเคลื่อนย้ายสัตว์มีชีวิต การสัมผัสสัตว์ที่มีเชื้อ โดยมีพาหะนำโรค คือ แมลงดูดเลือด (เห็บ แมลงวันดูดเลือด) ระยะฟักตัวในสัตว์จะอยู่ที่ประมาณ 28 วัน โดยเชื้อไวรัสชนิดนี้ก่อโรคตามอวัยวะที่มีเซลล์เยื่อบุ พบตุ่มเนื้อบนผิวหนังและเยื่อเมือกทั่วร่างกาย ซึ่งต่อมาจะตกสะเก็ดและเป็นแผลหลุม สัตว์อาจมีไข้และหายใจลำบากร่วมด้วย แม้ในประเทศไทยจะยังไม่มีรายงานการติดต่อมาสู่คน แต่ขอให้ประชาชนรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ เพื่อป้องกันการรับเชื้อดังกล่าว และหลีกเลี่ยงโรคติดต่อทางอาหารและน้ำอื่นๆ เช่น โรคอาหารเป็นพิษ และโรคอุจจาระร่วง นอกจากนี้ ควรเลือกซื้อเนื้อสัตว์จากแหล่งการค้าที่ได้มาตรฐาน เลือกซื้อวัตถุดิบที่สด สะอาด และมีคุณภาพ ตรวจดูรอยโรคก่อนซื้อ ไม่ควรเลือกซื้อเนื้อสัตว์ที่มีตุ่มหรือสะเก็ดแผลที่ผิวหนัง และแยกอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบอาหารระหว่างเนื้อสัตว์ และผักสด เพื่อป้องกันเชื้อโรคที่อาจแฝงมากับเนื้อสัตว์ได้ ควรเลือกรับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ โดยขอให้ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” คือ รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ควรใช้ช้อนกลางส่วนตัวเมื่อรับประทานร่วมกัน และก่อนหยิบจับหรือรับประทานอาหารควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง
นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงโค กระบือ ขอให้ติดตามข่าวสารและคำแนะนำของกรมปศุสัตว์อย่างใกล้ชิด ในเรื่องของการเลี้ยงโค กระบือ เพื่อให้ปลอดภัยจากโรคลัมปี สกิน และให้ดําเนินการควบคุมโรคควบคู่กับการควบคุมแมลงพาหะ การเคลื่อนย้ายสัตว์ การคัดทิ้ง แล