
ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ช่วงเดือนเมษายน จะเป็นช่วงที่อากาศร้อนที่สุดโดยตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม อากาศจะเริ่มกลับมาร้อนถึงร้อนจัดอีกครั้ง แม้คาดการณ์ฤดูร้อนปีนี้อากาศจะไม่ร้อนแรงเหมือนปีที่แล้ว เนื่องจากจะมีฝนฟ้าคะนอง พายุฤดูร้อนมาสลับในบางวัน แต่คาดการณ์ว่าอุณหภูมิสูงสุดจะอยู่ที่ 43 องศาเซลเซียส ขณะที่ปีที่ผ่านมา (2567) อุณหภูมิสูงสุดอยู่ที่ 44.2 องศาเซลเซียส ที่ อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2567
จากสภาพอากาศที่ร้อนจัดมักจะมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ขอให้ประชาชนดูแลสุขภาพ เสี่ยงเป็นโรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก (Heat stroke) ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อร่างกายมีอุณหภูมิสูงเนื่องจากรับความร้อนจากภายนอกมากกว่า 40 องศาเซลเซียส ส่งผลให้ระบายความร้อนไม่ได้ หรือ ระบายความร้อนไม่ทัน

สรุปข่าว
อาการของโรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก (Heat stroke)
- ตัวร้อนจัด
- เวียนศีรษะ หน้ามืด
- คลื่นไส้ อาเจียน
- เหงื่อออกมาก หัวใจเต้นเร็ว
- อาจมีอาการทางระบบประสาท เช่น ซึม ชัก พูดจาสับสน
วิธีป้องกัน
-เลี่ยงการอยู่กลางแจ้งที่แดดจัดเป็นเวลานาน
-ดื่มน้ำให้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
-หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนักกลางแดด
-สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี
หากพบผู้มีอาการดังกล่าว ให้รีบพาเข้าที่ร่ม ดื่มน้ำ และใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว
หากหมดสติ โทรแจ้งสายด่วน 1669 ทันที
สถิติผู้เสียชีวิตจากภาวะอากาศร้อน ฮีทสโตรก (Heat stroke) ปี 2567
มีรายงานผู้เสียชีวิต 63 ราย
-เพศชาย 54 ราย เพศหญิง 9 ราย
-อายุระหว่าง 30 - 95 ปี (เฉลี่ย 62 ปี)
-ส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้าง ร้อยละ 25
พบรายงานใน 31 จังหวัด
จังหวัดที่พบมากที่สุด
-อุดรธานี 9 ราย
-ชุมพร นครราชสีมา ศรีสะเกษ จังหวัดละ 4 ราย
-ขอนแก่น บุรีรัมย์ สุรินทร์ สมุทรสงคราม จังหวัดละ 3 ราย
-ชลบุรี ชัยนาท ปราจีนบุรี แพร่ ลำปาง ลำพูน สุราษฎร์ธานี จังหวัดละ 2 ราย
เตือนพฤติกรรมและปัจจัยเสี่ยงสำคัญ
-ดื่มสุราในช่วงอากาศร้อน
-ออกแรงหนักกลางแจ้ง (พบใน 62% ของผู้เสียชีวิต)
-ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดัน หัวใจ ฯลฯ
*เดือนเมษายนพบผู้เสียชีวิตมากที่สุด อุณหภูมิพุ่งสูงถึง 44 องศาเซลเซียส
ที่มา: กลุ่มพัฒนาระบบข่าวกรองเฝ้าระวังโรค ,กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค,
กรมอุตุนิยมวิทยา