เอสเอ็มอีหอบเงิน 25,400 ล้าน แห่ลงทุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ
สศช.เผยภาคเอกชนแห่ลงทุนพัฒนาพื้นที่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ 10 พื้นที่เป้าหมาย 25,400 ล้านบาท เอสเอ็มอีแชมป์สูงสุด ครอบคลุมทั้งก่อสร้างอาคารทั่วไป โลจิสติกส์
รายงานข่าวจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ บริเวณชายแดน 10 พื้นที่ตามนโยบายของรัฐบาล ว่า ขณะนี้พบว่ามีมูลค่าการลงทุนของเอกชน และการนิคมอุตสาหกรรม (กนอ.) ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจนถึงปัจจุบันรวม 25,400 ล้านบาท มีการจัดตั้งธุรกิจใหม่ 4,975 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียนรวม 9,823 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอี สูงถึง 98% ครอบคลุมประเภทกิจการ ทั้งก่อสร้างอาคารทั่วไป โลจิสติกส์ ผลิตเสื้อผ้า อสังหาริมทรัพย์ และโรงแรม รีสอร์ทและห้องชุด ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ผลิตไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์จากไม้แปรรูป
ส่วนการลงทุนที่ได้รับการส่งเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จากโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด 93 โครงการ วงเงิน 24,279 ล้านบาท ล่าสุดได้มีเอกชนเข้ามาลงทุนแล้ว 49 โครงการ คิดเป็นวงเงิน 8,209 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็น เสื้อผ้าสำเร็จรูป พลาสติก อาหารสัตว์ ยานยนต์ เครื่องจักรและชิ้นส่วน อุปกรณ์ก่อสร้าง โรงพยาบาล เป็นต้น
ขณะที่มูลค่าการลงทุนของภาคเอกชนเพื่อพัฒนาที่ดินราชพัสดุในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ตราด กาญจนบุรี และนครพนม มีวงเงินรวม 5,106 ล้านบาท ส่วนการลงทุนของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจ พิเศษสระแก้วและสงขลา รวม 2,114 ล้านบาท โดยขอใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้มาตรการส่งเสริมการลงทุนของกรมศุลกากร 2 โครงการ คือเขตปลอดอากรประเภทอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก และคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทร้านค้าปลอดอากรในเมืองในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลา วงเงินรวม 140 ล้านบาท
นอกจากนี้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใน 10 พื้นที่ ครอบคลุมทั้งในด้านการคมนาคมขนส่ง ระบบสาธารณูปโภคหรือสาธารณูปการ การพัฒนาด่านพรมแดนหรือด่านศุลกากร การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสังคม สามารถดำเนินการได้ตามแผน โดยปัจจุบันมีความก้าวหน้าการดำเนินงานเฉลี่ย 70% และมีโครงการสำคัญที่แล้วเสร็จ จะทยอยแล้วเสร็จในช่วงปี 62-65 โดยโครงการที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ เช่น ทางหลวงหมายเลข 12 ตาก-แม่สอด อาคารท่าอากาศยานแม่สอด สะพานข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่ 2