กทม. รวมพลังภาคีเครือข่าย ปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน
กทม. รวมพลังภาคีเครือข่าย ร่วมปิดไฟ 1 ชั่วโมง ประกาศเจตจำนงแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม 4 ด้าน
วานนี้ (27 มี.ค.64) เมื่อเวลา 19.30 น. : พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดกิจกรรม “ปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน (60+ Earth Hour 2021)” Speak Up for Nature หรือ “ปลุกพลังให้โลกที่เรารัก ยืนหยัดเพื่อธรรมชาติ” โดยเชิญชวนทุกภาคส่วนปิดไฟที่ไม่จำเป็น เป็นเวลา 1 ชั่วโมง ในวันเสาร์ที่ 27 มีนาคม 2564 ระหว่างเวลา 20.30 – 21.30 น. พร้อมกับประเทศต่าง ๆทั่วโลก ซึ่งมีกว่า 7,000 เมือง จาก 190 ประเทศ ร่วมปิดไฟ ณ บริเวณลานสแควร์ D ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เขตปทุมวัน
ทั้งนี้ กิจกรรมปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน หรือ Earth Hour เริ่มต้นโดย WWF ออสเตรเลีย (World Wide Fund for Nature หรือกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล) ซึ่งเป็นองค์การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ จัดขึ้นครั้งแรกในปี 2550 ที่เมืองซิดนีย์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนร่วมกันปิดไฟดวงที่ไม่จำเป็น 1 ชั่วโมง เพื่อช่วยลดการใช้พลังงาน เป็นการกระตุ้นจิตสำนึก และนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่าภายใต้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อแสดงพลังของคนทั่วโลก ที่ตระหนักถึงปัญหาภาวะโลกร้อน และพร้อมที่จะแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม
กรุงเทพมหานครได้จัดกิจกรรมปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน ครั้งแรกเมื่อปี 2551 ร่วมกับเครือข่าย 35 องค์กร ที่ร่วมลงนามในปฏิญญาว่าด้วยการลดภาวะโลกร้อนและได้จัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 14 และมีองค์กรเครือข่ายเพิ่มมากกว่า 160 องค์กร ซึ่งผลการดำเนินการจัดกิจกรรมปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน โดยในปีนี้ WWF ได้กำหนดหัวข้อแคมเปญการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ คือ Speak Up for Nature หรือ “ปลุกพลังให้โลกที่เรารัก ยืนหยัดเพื่อธรรมชาติ” เพื่อให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญและร่วมมือกันแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนมากขึ้น
และในปีนี้เป็นปีแรกที่กรุงเทพมหานครได้เชิญชวนภาคีเครือข่ายและทุกภาคส่วนร่วมรณรงค์ลดภาวะโลกร้อน โดยมีการประกาศเจตจำนง (Letter of Intent) ร่วมกันขององค์กรเครือข่าย จำนวน 13 องค์กร ที่มีเป้าหมายดำเนินการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมร่วมกับกรุงเทพมหานคร 4 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านการขนส่งมวลชน (2) ด้านพลังงาน (3) ด้านพื้นที่สีเขียว และ(4) ด้านการจัดการขยะมูลฝอย ซึ่งการดำเนินกิจกรรมมีเครือข่ายให้การสนับสนุน อาทิ WWF ประเทศไทย ร่วมผลักดันการรณรงค์ลดภาวะโลกร้อน ร่วมด้วยการไฟฟ้านครหลวง สนับสนุนการคำนวณปริมาณการใช้ไฟฟ้า บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด เอื้อเฟื้อสถานที่และมอบเสื้อสวมใส่รณรงค์ CP-All, สมาคมธนาคารไทย, BTS, MRT และอีกหลายหน่วยงาน รวมทั้งสื่อมวลชนได้สนับสนุนการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ เพื่อให้ทุกภาคส่วนร่วมกิจกรรมปิดไฟที่ไม่จำเป็น ลดการใช้พลังงาน
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เป็นที่น่ายินดีที่กิจกรรม “ปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน (60+ Earth Hour 2021)” ได้ดำเนินการมาเป็นปีที่ 14 แล้ว ซึ่งตลอดระยะเวลา 13 ปีที่ผ่านมากรุงเทพมหานคร ร่วมกับ WWF ประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน รวมถึงประชาชน ร่วมกันผลักดันให้กิจกรรมดังกล่าวดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดพลังความร่วมมือเพิ่มมากขึ้นทุกปี และสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และลดการใช้กระแสไฟฟ้าได้ในระดับหนึ่ง
สำหรับปีนี้ในส่วนของกรุงเทพมหานครได้จัดสถานที่ในการปิดไฟเชิงสัญลักษณ์ หรือ Landmark ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญ 5 แห่ง ได้แก่ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (พระบรมมหาราชวัง) วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร สะพานพระราม 8 เสาชิงช้า และภูเขาทอง (วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร) และยังมีผู้ประกอบการ เจ้าของอาคาร ในพื้นที่ 50 เขต ร่วมปิดไฟเชิงสัญลักษณ์อีก 116 แห่ง รวม 121 แห่ง และถนน 100 สาย รวมถึงเชิญชวนพี่น้องประชาชนทุกภาคส่วนทั้งในกรุงเทพฯ และทุกจังหวัดทั่วประเทศร่วมกันปิดไฟที่ไม่จำเป็น ถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ใช้งาน ลดการใช้เครื่องปรับอากาศ เป็นเวลา 1 ชั่วโมง และร่วมแชร์การมีส่วนร่วมกิจกรรมปิดไฟผ่านโซเซียลมีเดียด้วยการติดแฮชแท็กข้อความ #connect2earth (คอนเนคทูเอิร์ธ) หรือ #SpeakUpForNature (สปีคอัพฟอร์เนเจอร์) หรือ #BangkokSustainability (แบงค็อก ซัสเทน อบิลิตี้) และ #ปิดเพื่อโลกเปลี่ยนเพื่ออนาคต เพื่อร่วมเป็นต้นแบบลดการใช้พลังงานผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการรวมพลังความสามัคคีและความตั้งใจและลงมือปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนอย่างจริงจังของคนไทยให้ประจักษ์แก่สายตาชาวโลก
การแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในทุก ๆ ด้าน ขอชื่นชมและขอขอบคุณในความร่วมมือของภาคีเครือข่ายและทุกภาคส่วน ที่ร่วมจัดกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์ซึ่งทำให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่มีการลดการก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นลำดับต้น ๆ นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีของพี่น้องประชาชน ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ดี และหากทุกท่านตระหนักถึงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและร่วมอนุรักษ์พลังงานด้วยการปฏิบัติให้เป็นวิถีชีวิตประจำวัน เช่น ถอดปลั๊กไฟทุกครั้งหากไม่ใช้งาน ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าเท่าที่จำเป็น รวมถึงปิดไฟที่ไม่ใช้งานทุกครั้งอย่างต่อเนื่อง ก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการนำพาให้ประเทศไทยพ้นวิกฤติด้านการใช้พลังงานไฟฟ้าและจะเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ที่ช่วยโลกของเราจากปัญหาโลกร้อนได้อย่างยั่งยืน