
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการปฏิบัติงานลอกท่อระบายน้ำของสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร โดยใช้รถดูดเลนและแรงงาน บริเวณหน้าตลาดพลู เขตธนบุรี กทม. เพื่อเตรียมพร้อมรับพายุฤดูร้อนในช่วงวันที่ 6 - 8 มีนาคมและเตรียมรับหน้าฝนในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้
ข้อมูลของกองระบบท่อระบายน้ำ ปี 2568 กรุงเทพฯ มีความยาวท่อระบายน้ำรวม 6,924 กิโลเมตร เพิ่มขึ้นจากปี 2567 จำนวน 108 กิโลเมตร โดยการล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำในปีงบประมาณ 2568 มีแผนล้างทำความสะอาด ท่อระบายน้ำ ความยาว 3,803 กิโลเมตร แบ่งเป็นความรับผิดชอบของสำนักการระบายน้ำ ความยาว 413 กิโลเมตร และสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ความยาว 3,390 กิโลเมตร ซึ่งปัจจุบัน ณ วันที่ 4 มีนาคม 2568 ดำเนินการแล้วเสร็จไปแล้ว 1,565 กิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 41 คาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดภายในเดือนพฤษภาคม 2568 เพื่อให้ทันพร้อมรับการระบายน้ำก่อนเข้าสู่ฤดูฝน

สรุปข่าว
สำหรับการล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำในกรณีพิเศษช่วงบริเวณหน้าตลาด จากการสำรวจพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร มีจำนวนทั้งสิ้น 157 ตลาด กรุงเทพมหานครจึงได้มีแผนในการล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำในทุกๆ 3 เดือน ซึ่งบริเวณหน้าตลาดนั้นเป็นจุดเสี่ยงของการสะสมไขมันในบ่อพักท่อระบายน้ำและเส้นท่อระบายน้ำ ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่และส่งกลิ่น ไม่พึงประสงค์ ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน ซึ่งสิ่งที่พบในท่อระบายน้ำเป็นประจำ คือ ไขมันอุดตันในเส้นท่อระบายน้ำและบ่อพักท่อระบายน้ำ โดยพื้นที่
ตัวอย่างเช่น ถนนรัชดาภิเษกช่วงตลาดคลองเตย 1 , ถนนรัชดาภิเษก ช่วงตลาดพลู, ถนนสังคมสงเคราะห์ และถนนบางบอน 1 เป็นต้น
ทั้งนี้ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร กำหนดให้สถานที่จำหน่ายอาหาร ต้องมีการแยกไขมันไปกำจัดก่อนระบายน้ำทิ้งออกสู่ระบบระบายน้ำโดยใช้ถังดักไขมันหรือบ่อดักไขมัน หรือการบำบัดด้วยวิธีการอื่น ที่มีประสิทธิภาพ และน้ำทิ้งต้องได้มาตรฐานตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,0000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สำหรับความถี่ในการล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำ แบ่งเป็น 4 ห้วง ดังนี้ 1. ล้างทุก 6 เดือนในบริเวณชุมชน ที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น 2. ล้างทุก 1 ปี ในบริเวณที่มีปริมาณจราจรสูง ความหนาแน่นของพื้นที่ใช้สอยของอาคารมาก 3. ล้าง 1 ปี เว้น 1 ปี ในบริเวณที่มีปริมาณจราจรปานกลาง ความหนาแน่นของพื้นที่ใช้สอยอาคารปานกลาง และ 4. ล้าง 1 ปี เว้น 2 ปี ในบริเวณที่มีปริมาณจราจรน้อย ความหนาแน่นของพื้นที่ใช้สอยอาคารน้อย
ที่มาข้อมูล : กรุงเทพมหานคร
ที่มารูปภาพ : กรุงเทพมหานคร