“ปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน" กทม. ลดใช้ไฟฟ้าได้ 134 เมกะวัตต์

นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร เปิดผลความสำเร็จในการจัดกิจกรรม “ปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน ปี 2568 (60+ Earth Hour 2025) ซึ่งกรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม สำนักและสำนักงานเขต ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน รณรงค์และเชิญชวนผู้ประกอบการ ร้านค้า ประชาชน ลดการใช้พลังงานและปิดไฟที่ไม่จำเป็น เช่น ไฟประดับ ไฟอาคาร ป้ายโฆษณา รวมถึงการถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ใช้งาน ลดการใช้เครื่องปรับอากาศในอาคารบ้านเรือน เป็นเวลา 1 ชั่วโมง พร้อมกับเมืองต่าง ๆ กว่า 7,000 เมือง 190 ประเทศทั่วโลก ตั้งแต่เวลา 20.30 - 21.30 น. เมื่อวันเสาร์ที่ 22 มีนาคม 2568 ซึ่งในปีนี้ 5 แลนด์มาร์ค ของกรุงเทพมหานคร ได้แก่ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) พระบรมมหาราชวัง วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เสาชิงช้า สะพานพระราม 8 และ ภูเขาทอง วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ก็ ได้ร่วมปิดไฟเชิงสัญลักษณ์ด้วย


“ปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน" กทม. ลดใช้ไฟฟ้าได้ 134 เมกะวัตต์

สรุปข่าว

กรุงเทพมหานครจัดกิจกรรม "ปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน ปี 2568" พร้อมกับ 7,000 เมืองทั่วโลก เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 โดยมี 5 แลนด์มาร์คร่วมปิดไฟเชิงสัญลักษณ์ ผลการคำนวณพบว่าลดการใช้ไฟฟ้าได้ 134 เมกะวัตต์ ลดค่าไฟกว่า 620,000 บาท และลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 58.6 ตัน เทียบเท่าการดูดซับของต้นไม้ 5,860 ต้น

ผลการคำนวณปริมาณการใช้ไฟฟ้าช่วงเวลาดังกล่าวในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยการไฟฟ้านครหลวง พบว่า สามารถลดการใช้ไฟฟ้าลงได้ 134 เมกะวัตต์ เมื่อเทียบกับการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานครในวันเสาร์ก่อนหน้า หรือวันที่ 15 มีนาคม ในช่วงเวลาเดียวกัน สามารถลดค่าไฟฟ้าลงได้กว่า 6 แสน 2 หมื่นบาท ลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 58.6 ตันคาร์บอนไดออกไซด์  เทียบได้กับการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของต้นไม้ 5,860 ต้น ใน 1 ปี  หรือเท่ากับเที่ยวบินกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ จำนวน 485 เที่ยวบิน  การใช้รถยนต์ดีเซลเป็นระยะทาง 351,600 กิโลเมตร หรือเทียบได้กับ การปิดไฟ 263,700 ครัวเรือน

นายพรพรหม  บอกอีกว่า กรุงเทพมหานคร ได้ให้ความสำคัญต่อปัญหาภาวะโลกร้อนซึ่งส่งผลกระทบไปทั่วโลก จึงได้รณรงค์เพื่อสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนและทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญและมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง  และขอบคุณทุกภาคส่วนที่ให้ความร่วมมือ  ซึ่งกิจกรรมปิดไฟ  เป็นเพียงสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความร่วมมือ หากประชาชนทุกคนตระหนักถึงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและร่วมอนุรักษ์พลังงาน ด้วยการปฏิบัติให้เป็นวิถีชีวิตประจำวัน เช่น ถอดปลั๊กไฟทุกครั้งหากไม่ใช้งาน ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าเท่าที่จำเป็น ปิดไฟที่ไม่ใช้งานทุกครั้ง  การใช้จักรยาน การปลูกต้นไม้ การลดใช้รถยนต์ เดินทางด้วยรถสาธารณะมากขึ้น ก็จะช่วยโลกของเราจากปัญหาโลกร้อนได้อย่างยั่งยืน

ที่มาข้อมูล : กรุงเทพมหานคร

ที่มารูปภาพ : กรุงเทพมหานคร

avatar

ชญาภา ภักดีศรี