กรมชลฯ ชี้แจงปม “ประเทศไทยมีเขื่อน 4,758 เขื่อน” ทำไมน้ำยังท่วม ยังขาดแคลน?
กรมชลประทาน ชี้แจงปม “ประเทศไทยมีเขื่อน 4,758 เขื่อน ทำไมน้ำยังท่วม น้ำยังขาดแคลน จะต้องสร้างอีกกี่เขื่อนถึงจะพอ?
จากกรณีที่มีการโพสต์ข้อความบนสื่อออนไลน์ Twitter ( X ) ว่า “ประเทศไทยมีเขื่อน 4,758 เขื่อน ทำไมน้ำยังท่วม น้ำยังขาดแคลน? จะต้องสร้างอีกกี่เขื่อนถึงจะพอ?” นั้น
กรมชลประทาน โดยสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยาขอชี้แจงในกรณีที่เกิดขึ้นว่า จากข้อมูลปัจจุบัน (2 กันยายน 2567) ปริมาณน้ำจากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 35 แห่ง และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 435 แห่ง รวมกันทั้งสิ้นประมาณ 48,015 ล้าน ลบ.ม. ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 28,322 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 13,341 ล้าน ลบ.ม. ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 10,530 ล้าน ลบ.ม.
ดังนั้นหากฝนตกในพื้นที่เหนือเขื่อน มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนจำนวนมาก จะเป็นผลดีที่จะมีน้ำกักเก็บไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง ปี 2567/68 เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ หากเกิดปัญหาฝนทิ้งช่วง หรือปริมาณฝนที่ตกลงมาในพื้นที่ท้ายเขื่อนน้อย ปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนน้อยลง ย่อมส่งผลให้เกิดความเสี่ยงภัยแล้ง
กรมชลประทาน มีความห่วงใยประชาชนในทุกพื้นที่ ที่ผ่านมาได้มีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด บริหารจัดการน้ำในอ่างฯ ให้สอดคล้องสัมพันธ์กับปริมาณน้ำในลำน้ำมากที่สุด เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ด้านท้ายของอ่างเก็บน้ำ พร้อมทั้งดำเนินการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เกี่ยวกับข้อมูลสถานการณ์น้ำต่อเนื่อง เพื่อให้การป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ข่าวแนะนำ