TNN 30 บาทรักษาทุกที่! สปสช. คาดพื้นที่ กทม. ใช้บัตรประชาชนใบเดียวได้ภายในปีนี้

TNN

สังคม

30 บาทรักษาทุกที่! สปสช. คาดพื้นที่ กทม. ใช้บัตรประชาชนใบเดียวได้ภายในปีนี้

30 บาทรักษาทุกที่! สปสช. คาดพื้นที่ กทม. ใช้บัตรประชาชนใบเดียวได้ภายในปีนี้

สปสช. รับพื้นที่กรุงเทพฯมีความหลากหลายและซับซ้อน ของสถานพยาบาลหลายสังกัด ตั้งเป้าจะสามารถใช้นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียวในสถานพยาบาลทุกสังกัดได้ภายในปีนี้

ภายหลังที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง จังหวัดที่ดำเนินงานตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว พ.ศ. 2567 โดยมีพื้นที่กรุงเทพมหานครด้วยนั้น แต่ยังพบว่ายังมีปัญหาในการเชื่อมข้อมูลและการส่งตัวผู้ป่วย  


ล่าสุด นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบุว่า เนื่องจากพื้นที่กรุงเทพนคร มีความซับซ้อน และมีความหลากหลายทางด้านของสถานพยาบาลหลายสังกัด  ซึ่งต่างจากพื้นที่ต่างจังหวัด ส่วนใหญ่เกินครึ่งเป็นของภาคเอกชนมากกว่าภาครัฐ  การประกาศดังกล่าวจึงเป็นการประกาศในเบื้องต้น เพื่อเตรียมในเรื่องของข้อมูลและการเตรียมงบประมาณการจ่ายให้กับหน่วยบริการ  แต่ยอมรับว่า บางแห่งยังไม่พร้อม ซึ่งยังมีการหารือเรื่องของใบส่งตัวกันอยู่  


ขณะนี้ได้มีการพูดคุยในการแก้ปัญหาในส่วนนี้แล้ว เน้นย้ำจะต้องมีการเชื่อมข้อมูลระหว่างสถานพยาบาลด้วยกันในการส่งตัวผู้ป่วย โดยจะมีการออกประกาศหลักเกณฑ์ขั้นตอนต่างๆออกมาอีกหลายฉบับเพื่อเป็นทิศทาง เดียวกัน


ทั้งนี้ ยอมรับ พื้นที่กรุงเทพมหานคร มีความยุ่งยาก ซึ่งจะต้องไปทำความเข้าใจกับสถานพยาบาลและระบบข้อมูล ในการเชื่อมโยงข้อมูลการรักษาและข้อมูลผู้ป่วยร่วมกัน คาดว่า พื้นที่กรุงเทพมหานคร ระบบทั้งหมดจะเสร็จสิ้นและสามารถใช้บริการในนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนภายในปีนี้ ซึ่งถูกกำหนดเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล


โดยสถานพยาบาลที่พร้อมในการรองรับ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตอนนี้ ศูนย์บริการสาธารณสุข หน่วยนวัตกรรม และสถานพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข ที่มีอยู่ 3 แห่งคือโรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลเลิดสินและ โรงพยาบาลนพรัตน์ฯ


ส่วนปัญหาที่คลินิกชุมชนอบอุ่นส่วนหนึ่งไม่ยอมออกใบส่งตัว ขณะที่รพ.แม่ข่าย ที่รับต่อต้องการใบส่งตัวจึงส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยนั้น นพ.จเด็จ ระบุว่า ใบส่งตัวมีวัตถุประสงค์ 2 อย่างหลักๆ คือ  


1.อยากรู้ประวัติ ของผู้ป่วย การรักษาต่างๆ  ส่วนตัวมองว่ายังอยากให้มีประวัติการรักษาจากที่เดิมอยู่ ในส่วนต่างจังหวัดการส่งตัวขณะนี้จะเป็นในรูปแบบระบบอิเล็กทรอนิกส์ แต่ถ้าไม่มีอาจจะต้องเขียน เป็นกระดาษ ซึ่งเป็นระบบเดิมที่ใช้กันมานาน ซึ่งพยายามจะเลิกใช้ระบบนี้และมาใช้ระบบใหม่ 


2 .ใช้ใบส่งตัว เพื่อที่จะได้รู้ว่าใครจะมาจ่ายเงิน  ซึ่งในส่วนนี้ที่เป็นปัญหา ทาง สปสช.ยืนยันมาตลอดเงินที่เคยต้องตามจ่ายโดยหน่วยบริการ ที่ทำใบส่งตัว ทางสปสช.จะมี เงินอีกก้อนในการไปตามจ่ายให้อยู่แล้ว ถ้าไม่มีใบส่งตัว ซึ่งปัญหาดังกล่าวจะต้องมีการทำความเข้าใจ กันอีกครั้ง โดยยืนยันว่าใบส่งตัวเพื่อประกอบงบประมาณ ในการไปจ่ายของสถานพยาบาลนั้น ไม่จำเป็น


กรณีต้องมีใบส่งตัวไม่ใช่ว่าต้องฉุกเฉิน แต่หมายถึงต้องมีเหตุสมควร ว่า ประชาชนหรือผู้ป่วยจำเป็นต้องรักษาในรพ.ระดับสูงกว่า เช่น เป็นโรคหัวใจ โรคเฉพาะทาง


สำหรับ ผู้ป่วยที่เกินศักยภาพของคลินิกในการรักษา จำเป็นต้องส่งตัวมีหลักพิจารณา 3 ระดับ คือ 


1.เป็นโรคทั่วไป  เช่น ปวดหัว ตัวร้อน เป็นไข้หวัด ลักษณะนี้ สามารถรักษาที่คลินิกได้ ในส่วนของสถานพยาบาลปฐมภูมิ  


2.เป็นโรคที่ต้องรักษาที่ โรงพยาบาล เท่านั้น ไม่สามารถรักษาที่คลินิก หรือสถานพยาบาลปฐมภูมิได้ 


3.เป็นกลุ่มอาการที่ก้ำกึ่ง  อาจต้องถึงขั้นรักษาที่รพ. หรืออาจไม่ต้อง  อย่างไรก็ตามสามารถสอบถามมาที่สายด่วนสปสช. 1330 ได้


ทั้งนี้ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีสถานพยาบาลของเอกชน เช่น คลินิกชุมชนอบอุ่น เข้าร่วมในโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ประมาณ 150 แห่ง ซึ่งคลินิกชุมชนอบอุ่นที่เข้าร่วมโครงการ จะได้รับค่าบริการครั้งละ 320 บาท เช่น เปิดคลินิกตอนเย็น 3 ชั่วโมง มีผู้มาใช้บริการ 10 คน ในระบบ 30 บาทรักษาทุกที่ รวมเป็นเงิน ทั้งหมด 3,200 บาท ทาง สปสช. ก็จะโอนเงินจำนวนนี้ให้กับคลินิกภายใน 3 วัน 


แต่ถ้าเป็นคลินิกชุมชนอบอุ่นที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ จะมีจำนวนประชากรผู้ป่วยที่ดูแล ในระบบอยู่แล้วซึ่งทางสปสช.จะโอนเงินเป็นรายเดือน ตามจำนวนหัว เช่นมีประชากรกลุ่มเป้าหมาย 10,000 คนที่ต้องดูแลรายละ 60 บาทรวมเป็นเงิน 600,000 บาท ทางสปสช. ก็จะโอนให้ไปเลยหากในจำนวนนี้ไม่มีการเจ็บป่วย เงินในส่วนนี้ทางคลินิกก็สามารถที่จะเก็บไว้ได้เลย แต่หากเจ็บป่วย แล้วเกินศักยภาพของคลินิก ต้องส่งต่อรักษาไปที่อื่น  สปสช.จะเก็บเงินสูงสุดไม่เกินครั้งละ 800 บาท


ส่วนโรงพยาบาลเอกชน ที่เข้าร่วมโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ ส่วนใหญ่จะรับส่งต่อและดูแลเป็นกลุ่มโรคเฉพาะทางมากกว่า เช่น โรคหัวใจ โรคไต ตอนนี้มีประมาณ 22 แห่ง


ข่าวแนะนำ