กพท. ส่งมอบโมเดล "นางสาวสยาม" ถึงมือทายาท - หน่วยการบิน
กพท. ส่งมอบแบบจำลองเครื่องบิน “นางสาวสยาม” เครื่องบินพลเรือนลำแรกของประเทศไทย ให้แก่ กองทัพอากาศ ทายาทเจ้าของเครื่องบิน และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมรำลึกถึงประวัติศาสตร์การบินครั้งสำคัญเมื่อ 92 ปีก่อน
สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ในฐานะกำกับดูแลควบคุม และส่งเสริมการดำเนินงานของกิจการการบินพลเรือน ทำพิธีส่งมอบแบบจำลองเครื่องบิน “นางสาวสยาม” เครื่องบินพลเรือนลำแรกของประเทศไทย ซึ่งเป็นเครื่องบินส่วนตัวของ นาวาอากาศเอก เลื่อน พงษ์โสภณ ที่ได้ทำการจัดซื้อมาเมื่อ ปี พ.ศ. 2475 ให้แก่ กองทัพอากาศ มูลนิธิอนุรักษ์และพัฒนาอากาศยานไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และ นายเลิศชาย พงษ์โสภณ ทายาท นาวาอากาศเอก เลื่อน พงษ์โสภณ
โดยสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ได้รับอนุญาตจากมูลนิธิอนุรักษ์และพัฒนาอากาศยานไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้นำเครื่องบิน “นางสาวสยาม” มาเป็นต้นแบบเครื่องบินจำลอง โดยมีขนาดลำตัว 40 เซนติเมตร และ 20 เซนติเมตร เพื่อสื่อสารประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่าของเครื่องบินพลเรือนลำแรกของประเทศไทย และทำการมอบเพื่อเป็นที่ระลึกให้กับหน่วยงานด้านการบินทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้ง เพื่อเป็นการรำลึกประวัติศาสตร์ครบรอบ 92 ปีที่ นาวาอากาศเอก เลื่อน พงษ์โสภณ ได้นำเครื่องบินนางสาวสยามบินเดี่ยวไปเชื่อมสัมพันธไมตรีกับสาธารณรัฐประชาชนจีน
สำหรับเป้าหมายการมอบแบบจำลองเครื่องบินจำลองนางสาวสยามเพื่อเป็นเกียรติแก่กองทัพอากาศ ซึ่งมีบทบาทในการถ่ายทอดเรื่องราวประวัติศาสตร์อากาศยานไทย , มูลนิธิอนุรักษ์และพัฒนาอากาศยานไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งได้ฟื้นฟูและอนุรักษ์เครื่องบินนางสาวสยาม รวมถึงทายาท นาวาอากาศเอก เลื่อน พงษ์โสภณ
เครื่องบิน “นางสาวสยาม” (Miss Siam) เป็นเครื่องบินพลเรือนลำแรกของประเทศไทย เป็นเครื่องยนต์เคอติส 10 แรงม้า มีปีก 2 ชั้น 2 ที่นั่ง ปีกโครงสร้างภายในเป็นไม้ หุ้มด้วยผ้าแฟบริค มีความยาว 24 ฟุต 7 นิ้ว โดย นาวาอากาศเอก เลื่อน พงษ์โสภณ จัดซื้อมาเป็นเครื่องบินส่วนตัวเมื่อ ปี พ.ศ. 2475 และได้ทำการบินเพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีกับประเทศจีน (บินจากกรุงเทพฯ ผ่านประเทศลาว ประเทศเวียดนาม ไปสิ้นสุดที่เมืองซัวเถา ประเทศจีน ใช้เวลาเดินทาง 5 วัน) ปัจจุบันได้ถูกเก็บรักษาไว้ที่มูลนิธิอนุรักษ์และพัฒนาอากาศยานไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
ข่าวแนะนำ